ค้อนกลองเป็นไม้ต้นสูง ๒-๓(-๑๐) ม. ตามกิ่งอ่อนโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณใกล้ใคนก้านใบมีหนามแหลมแข็ง และมักโค้งเล็กน้อย ๑ คู่ กิ่งอ่อนมีขนสั้นหนานุ่ม กิ่งแก่เกลี้ยง เปลือกสีนํ้าตาล มีช่องอากาศเป็นแนวสั้น ๆ ตามยาวคล้ายริ้วสีจาง
ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปไข่หรือรูปรีแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๒-๕.๕ ซม. ยาว ๖-๑๔ ซม. ปลายแหลมถึงเรียวแหลม โคนรูปลิ่มถึงค่อนข้างมนและอาจเบี้ยวเล็กน้อย ขอบเรียบหรือเป็นคลื่นบ้างเล็กน้อย แผ่นใบค่อนข้างหนา ใบอ่อนมีขนสั้นนุ่มประปรายและสีเหลืองอ่อนเมื่อแห้ง เส้นกลางใบและเส้นแขนงใบนูนเด่นหรือเป็นสันคมทางด้านล่าง เป็นร่องทางด้านบน เส้นแขนงใบข้างละ ๘-๑๒ เส้น ปลายเส้นโค้งจรดกับเส้นถัดขึ้นไปใกล้ขอบใบ เส้นใบย่อยแบบร่างแห สังเกตเห็นได้ทางด้านล่าง ก้านใบยาวประมาณ ๑ ซม. เมื่ออ่อนมีขนสั้นนุ่มหนาแน่น
ช่อดอกแบบช่อซี่ร่ม ออกตามปลายกิ่งหรือตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง กว้างและยาว ๑.๕-๒ ซม. ก้านช่อยาวประมาณ ๐.๕ ซม. ก้านดอกยาวไม่เกิน ๒ ซม. เมื่ออ่อนมีขนสั้นนุ่ม กลีบเลี้ยง ๔ กลีบ เรียงเป็น ๒ คู่ สลับทิศทางกัน คู่นอกรูปรี คู่ในรูปรีกว้าง ปลายกลีบและขอบกลีบงุ้มเข้า มีขนนุ่มตามผิวด้านนอก กลีบดอก ๔ กลีบ สีขาว รูปไข่กลับ กว้างประมาณ ๓ มม. ยาวประมาณ ๘ มม. ร่วงง่าย มีขนครุยใกล้โคนกลีบเกสรเพศผู้จำนวนมาก คล้ายเส้นด้าย ยาวประมาณ ๒.๕ ซม. ก้านชูอับเรณูยาวใกล้เคียงกับเกสรเพศผู้รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปไข่ กว้าง ๑.๕-๒ มม. ยาวประมาณ ๒ มม. เกลี้ยง มี ๑ ช่อง ออวุลจำนวนมากก้านยอดเกสรเพศเมียสั้นมาก ยอดเกสรเพศเมียเป็นปุ่มกลม
ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด แต่ละช่อมี ๑-๓(-๕) ผล รูปทรงกลมหรือกลมรี เส้นผ่านศูนย์กลาง ๒-๔ ซม. ผลแก่จัดสีเหลือง ผิวเรียบ เมื่อแห้งแข็งคล้ายหนังและย่น ก้านช่อผลยาว ๑-๒ ซม. ก้านผลยาว ๓-๕ ซม. ปลายก้านโตและมักเรียวสอบมาทางโคนก้านเมล็ดรูปคล้ายรูปไต เบี้ยว กว้าง ๖-๘ มม. ยาว ๑-๑.๓ ซม. มี ๑-๖(-๑๕) เมล็ด
ค้อนกลองมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคตะวันตกเฉียงใต้ พบตามป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณชื้น และป่าชายหาด ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับนํ้าทะเลถึงประมาณ ๓๕๐ ม. ออกดอกเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายนเป็นผลเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม ในต่างประเทศพบที่ อินเดีย ศรีลังกา พม่า และเวียดนาม.