ไข่ปู-หญ้า

Eragrostis unioloides (Retz.) Nees ex Steud.

ชื่ออื่น ๆ
หญ้าข้อ (ใต้); หญ้ามุ้งกระต่าย, หญ้าฮ้อยเขียด (เหนือ); หญ้าโกรกหนู (ตะวันออกเฉียงใต้)
ไม้ล้มลุกหลายปี สูงไม่เกิน ๕๐ ซม. ใบเรียงสลับ รูปแถบ ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกที่ยอด ช่อดอกย่อยรูปไข่ แบนด้านข้าง ดอกย่อยเรียงซ้อนชิดกัน ๗-๒๐ ดอก ด้านที่ถูกแสงแดดมีสีม่วง ผลแบบผลแห้งเมล็ดติด รูปไข่ ยาวประมาณ ๑ มม.

หญ้าไข่ปูเป็นไม้ล้มลุกหลายปี สูง ๗-๕๐ ซม. แตกเป็นกอ มีรากออกตามข้อล่าง ๆ

 ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปแถบ กว้าง ๓-๕ มม. ยาว ๕-๑๑ ซม. ปลายแหลม โคนมน ขอบมีขนสาก ผิวใบด้านบนมีขนสีขาว กาบใบยาว ๑.๕-๔ ซม. มีขนบริเวณที่ติดกับโคนแผ่นใบ ลิ้นใบเป็นขนสั้น

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกที่ยอด กว้าง ๔-๘ ซม. ยาว ๕-๑๕ ซม. แกนกลางช่อดอกกลม แกนแขนงช่อเป็นเหลี่ยมและสากคาย ช่อดอกย่อยรูปไข่ กว้าง ๒-๓ มม. ยาว ๔-๖ มม. แบนด้านข้าง ด้านที่ถูกแสงแดดมีสีม่วง ก้านช่อดอกย่อยยาว ๓-๘ มม. กาบช่อดอกย่อยบาง ปลายแหลม พับตรงกลางเป็นสันตามยาว ที่สันพับมีขนคาย กาบล่างสั้นกว่ากาบบน กาบบนยาวประมาณ ๒ มม. มีดอกย่อย ๗-๒๐ ดอก ดอกพร้อมกาบดอกจะทยอยร่วงจากโคนสู่ปลาย ดอกมีลักษณะเหมือนกันทุกดอก กาบล่างบาง กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๒ มม. ปลายแหลม หลังโค้งนูน มีเส้นตามยาว ๓ เส้น กาบบนเล็กกว่ากาบล่างเล็กน้อย ปลายมนและเป็นริ้ว ใกล้ขอบพับเป็นสัน และที่สันมีครีบยื่นออกมาเล็กน้อย มีขนละเอียดที่ครีบ กลีบเกล็ดรูปสามเหลี่ยม มี ๒ อัน เกสรเพศผู้ ๒ อัน อับเรณูเล็กมาก รังไข่อยู่เหนือส่วนวงกลีบ มี ๑ ช่อง ออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมีย ๒ เส้น ยอดเกสรเพศเมียมีขนยาวนุ่ม เป็นพู่

 ผลแบบผลแห้งเมล็ดติด รูปไข่ ยาวประมาณ ๑ มม. สีน้ำตาล

 หญ้าไข่ปูมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ในต่างประเทศพบที่อินเดีย ภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ไข่ปู-หญ้า
ชื่อวิทยาศาสตร์
Eragrostis unioloides (Retz.) Nees ex Steud.
ชื่อสกุล
Eragrostis
คำระบุชนิด
unioloides
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Retzius, Anders Jahan
- Nees von Esenbeck, Christian Gottfried Daniel
- Steudel, Ernst Gottlieb von
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Retzius, Anders Jahan (1742-1821)
- Nees von Esenbeck, Christian Gottfried Daniel (1776-1858)
- Steudel, Ernst Gottlieb von (1783-1856)
ชื่ออื่น ๆ
หญ้าข้อ (ใต้); หญ้ามุ้งกระต่าย, หญ้าฮ้อยเขียด (เหนือ); หญ้าโกรกหนู (ตะวันออกเฉียงใต้)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางชุมศรี ชัยอนันต์