คอแดงเป็นไม้ต้นพวกปาล์ม ลำต้นเดี่ยว สูงได้ถึง ๑๐ ม. เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑๕-๒๕ ซม. สีเขียวเคลือบขาว มีรอยกาบใบนูนเด่น สีน้ำตาล ช่วงคอยอด มีขนสีนํ้าตาลแดงหนาแน่น
ใบประกอบแบบขนนก เรียงเวียนถี่ใกล้ยอด ๑๒-๑๕ ใบ กว้างประมาณ ๑.๒ ม. ยาว ๓-๔ ม. โคนก้านใบแผ่เป็นกาบแนบชิดลำต้นและมีขนสีน้ำตาลแดงหนาแน่น กาบใบยาว ๔๐-๕๐ ซม. ก้านใบยาว ๑๔-๑๗ ซม. ใบย่อย ๙๐-๑๐๐ ใบ รูปแถบ กว้าง ๓-๔ ซม. ยาว ๔๕-๖๐ ซม. ปลายแหลม เรียงสลับระนาบเดียวด้านบนสีเขียวเข้ม ด้านล่างสีเขียวอ่อนไม่มีก้านใบ
ดอกแยกเพศร่วมช่อ ช่อดอกแบบช่อแยกแขนงออกที่ซอกกาบใบ เมื่อช่อดอกโตกาบใบจะร่วงไป ช่อตั้งตรง กว้างประมาณ ๑.๔ ม. ยาวประมาณ ๑.๗ ม. มี ๓-๕ ช่อ แต่ละช่อที่โคนมีกาบรูปคล้ายเรือ ก้านช่อ
ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑-๑.๒ ซม. สุกสีน้ำตาลเข้ม เนื้อบางเมล็ดรูปทรงกลมถึงรี กว้างประมาณ ๙ มม. ยาวประมาณ ๑ ซม. โคนเรียวปลายค่อนข้างกลม
คอแดงเป็นพรรณไม้ต่างประเทศ มีถิ่นกำเนิดในมาดากัสการ์ นำเข้ามาปลูกในประเทศไทยเป็นปาล์มประดับ เจริญเติบโตได้ดีในทุกภาคของประเทศ ชอบดินร่วนระบายนํ้าดี มีความชื้นปานกลาง
คอแดงชนิดนี้มีลักษณะใกล้เคียงกับปาล์มคอแดงชนิด Dypsis lastelliana (Baill.) Beentje et J. Dransf. ซึ่งปาล์มคอแดงชนิดนี้มีลำต้นสูงกว่าผล ขนาดใหญ่กว่าแต่ได้รับความนิยมปลูกน้อยกว่า ปัจจุบันไม่ค่อยพบ.