ข้าวเย็นใต้เป็นไม้เถาเนื้อแข็ง เหง้ารูปทรงกระบอกกว้าง ๑.๕-๖ ซม. ยาว ๕-๒๕ ซม. ผิวสีน้ำตาลแดง เป็นปุ่มปมบ้างเล็กน้อย ภายในสีค่อนข้างขาวถึงสีน้ำตาลอ่อนเถามีเส้นผ่านศูนย์กลาง ๓-๕ มม. ยาว ๑-๔ ม. เกลี้ยงกิ่งก้านคดไปมา
ใบเดี่ยว เรียงเวียนห่างกัน ๑-๕ ซม. รูปใบหอกรูปรีแกมรูปใบหอก หรือรูปไข่ กว้าง ๒-๗ ซม. ยาว ๕-๑๘ ซม. ปลายแหลมถึงเรียวแหลม โคนมน ขอบเรียบแผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ด้านบนเป็นมัน ด้านล่างมีนวลเส้นโคนใบ ๕ เส้น คู่นอกสุดอยู่ชิดขอบใบ คู่ถัดมาอยู่ใกล้ขอบใบมากกว่าอยู่ใกล้เส้นกลางใบ เส้นใบย่อยแบบร่างแหก้านใบยาว ๑-๓ ซม. โคนเป็นกาบยาว ๐.๓-๑.๕ ซม. มีปีกบาง กว้าง ๐.๓-๑ มม. มือพันเรียว ออกเป็นคู่ที่ปลายของกาบใบ ยาว ๗-๑๕ ซม.
ดอกแยกเพศต่างต้น ช่อดอกแบบช่อซี่ร่ม ออกเป็นช่อเดี่ยวตามซอกใบตอนล่างของกิ่งและที่ยอดของลำต้นก้านช่อดอกอวบและสั้น ยาว ๑-๙ มม. ดอกสีเขียวอ่อนกลีบรวม ๖ กลีบแยกจากกัน เรียงเป็น ๒ ชั้น ใบประดับย่อยรูปไข่ ปลายแหลม ยาว ๑-๑.๗ มม. ช่อดอกเพศผู้รูปกลม มี ๓๐-๖๐ ดอก ก้านดอกเรียว ยาว ๑-๒.๕ ซม. ช่อดอกเพศเมียรูปลูกข่างถึงกึ่งกลม มี ๑๐-๒๕ ดอก ก้านดอกเรียว ยาว ๑-๑.๕ ซม. ดอกเพศผู้รูปกลมแป้นกว้าง ๓-๓.๗ มม. ยาวประมาณ ๒ มม. คล้ายเป็น ๖ สัน กลีบรวมกางออกเล็กน้อย กลีบรวมชั้นนอก ๓ กลีบ รูปกลมแกมรูปไข่กลับ กว้างประมาณ ๒ มม. ยาวประมาณ ๓ มม. โค้งงอเป็นถุง ด้านนอกมีร่องลึกตามยาวกลางกลีบ กลีบรวมชั้นใน ๓ กลีบ รูปไข่ กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๑.๕ มม. ด้านนอกมีร่องลึกตามยาวกลางกลีบปลายกลีบแหลมโค้งเข้า เกสรเพศผู้ ๖ เกสร ก้านชูอับเรณูสั้นมาก อับเรณูยาวประมาณ ๐.๗ มม. ดอกเพศเมียรูปกลมแป้น กว้าง ๒.๕-๓ มม. ยาว ๑.๕-๒ มม. กลีบรวมงอเข้ากลีบรวมชั้นนอก ๓ กลีบ รูปกลมหรือรูปกลมแกมรูปไข่คล้ายรูปเรือ กว้างประมาณ ๒ มม. ปลายมน กลีบรวมชั้นใน ๓ กลีบ รูปไข่กลับ โค้งงอเป็นถุงแคบ ๆ กว้างประมาณ ๑.๕ มม. เกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน ๓ เกสร เรียวยาวคล้ายเข็ม ยาวประมาณ ๒ มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปค่อนข้างกลม กว้างและยาวประมาณ ๒ มม. มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑-๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้นมากยอดเกสรเพศเมียเป็นวงกลม มี ๓ พู
ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงกลมเส้นผ่านศูนย์กลาง ๐.๕-๑ ซม. มีนวล สุกสีดำอมน้ำเงินเมล็ด ๑-๓ เมล็ด สีน้ำตาลดำ
ข้าวเย็นใต้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงใต้ พบขึ้นในป่าดิบร้อน ที่สูงจากระดับทะเล ๓๐๐-๑,๘๐๐ ม. ออกดอกเดือนมิถุนายนถึงพฤศจิกายนเป็นผลเดือนพฤศจิกายนถึงเมษายน ในต่างประเทศพบที่อินเดีย เมียนมา จีนตอนกลางและตอนใต้ ไต้หวัน และภูมิภาคอินโดจีน.
ประโยชน์ เหง้ามีสารประกอบประเภทสเตียรอยด์ เช่น smilagenin และแซโพนิน เช่น smilacin ใช้เป็นสมุนไพรเข้ายาที่ใช้บำบัดโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์แก้น้ำเหลืองเสียในโรคซิฟิลิส ใช้ในโรคผิวหนัง ขับเหงื่อและเป็นยาบำรุง.