ไข่ปูใหญ่

Rubus alceifolius Poir.

ชื่ออื่น ๆ
มะฮู้ไข่ปู, หนามไข่ปู (เหนือ); ฟ้าแลบ (ใต้)
ไม้รอเลื้อย กิ่งเป็นเหลี่ยม มีหนามงอโค้งและมีขนสั้นนุ่มสีเหลืองหนาแน่น ใบเรียงสลับ รูปไข่กว้างหรือกลม ขอบเว้า ๓-๗ แฉกและจักฟันเลื่อย หูใบติดกับลำต้นและแยกเป็นเส้น ๆ ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามง่ามใบและปลายกิ่ง ดอกสีขาว ผลแบบผลกลุ่ม ผลย่อยแบบผลผนังชั้นในแข็ง

ไข่ปูใหญ่เป็นไม้พุ่มหรือไม้รอเลื้อย กิ่งเป็นเหลี่ยมมีหนามงอโค้งและมีขนสั้นนุ่มสีเหลืองหนาแน่น บางครั้งอาจพบขนต่อมแซม

 ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่กว้างหรือกลม กว้าง ๓-๑๕ ซม. ยาว ๕-๒๐ ซม. โคนเว้าเป็นรูปหัวใจ ขอบเว้า ๓-๗ แฉก และจักฟันเลื่อย แผ่นใบหนา ด้านบนเป็นรอยย่น ด้านล่างมีขนสั้นนุ่มหนาแน่น เส้นโคนใบ ๕ เส้น มีขนสั้น ก้านใบยาว ๒-๕ ซม. หูใบติดกับลำต้นและแยกเป็นเส้น ๆ

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามง่ามใบและปลายกิ่ง ช่อตามง่ามใบยาวประมาณ ๕ ซม. ช่อตามปลายกิ่งยาวประมาณ ๑๘ ซม. ดอกสีขาว เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑.๕-๒ ซม. ใบประดับแยกเป็นเส้น ก้านดอกยาว ๐.๕-๑ ซม. มีขนแข็งสีแดง กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ โคนติดกันเป็นรูปคนโท ปลายแยกเป็นกลีบรูปใบหอก มีขนหนานุ่มสีเหลือง กลีบดอก ๕ กลีบ รูปไข่กลับ ขอบกลีบหยักเว้าลึก เกสรเพศผู้มีจำนวนมาก ปลายอับเรณูมีขน เกสรเพศเมียจำนวนมาก แยกกัน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ แต่ละรังไข่มี ๑ ช่อง ออวุล ๑ เม็ด ยาวกว่าเกสรเพศผู้

 ผลแบบผลกลุ่ม ผลย่อยแบบผลผนังชั้นในแข็ง มีเมล็ด ๑ เมล็ด ผิวย่น

 ไข่ปูใหญ่มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตกเฉียงใต้ และภาคใต้ ขึ้นตามที่โล่ง ที่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๕๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่จีน ญี่ปุ่น พม่า ภูมิภาคอินโดจีน ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย

 ผลกินได้ รสเปรี้ยวอมหวาน ใบใช้เป็นชาและเป็นยาพอก รากต้มเป็นยาแก้โรคบิดและขัดเบา ในอินโดนีเซียรากใช้เคี้ยวแก้อาการจุกเสียด.




ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ไข่ปูใหญ่
ชื่อวิทยาศาสตร์
Rubus alceifolius Poir.
ชื่อสกุล
Rubus
คำระบุชนิด
alceifolius
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Poiret, Jean Louis Marie
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1755-1834)
ชื่ออื่น ๆ
มะฮู้ไข่ปู, หนามไข่ปู (เหนือ); ฟ้าแลบ (ใต้)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ.บุศบรรณ ณ สงขลา