จอกหูหนูยักษ์เป็นเฟิร์นน้ำขนาดใหญ่ มีขนาดใหญ่กว่าจอกหูหนู เหง้าเรียวยาว เส้นผ่านศูนย์กลาง ๓-๕ มม. แตกกิ่งสาขาทอดขนานไปกับผิวน้ำ ลักษณะเป็นแพ ลอยอิสระไปตามน้ำ
ใบเดี่ยว เรียงเป็นวงรอบ แต่ละข้อมี ๓ ใบ ใบมีรูปร่าง ๒ แบบ ใบที่อยู่เหนือน้ำมี ๒ ใบ สีเขียวสดหรือเขียวอมน้ำตาล รูปค่อนข้างกลม กว้างและยาว ๑-๔ ซม. ปลายมน โคนตัด ขอบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อยแผ่นใบพับเข้าหากัน เนื้อใบหนาและนุ่ม มีขนหนาแน่นทั้ง ๒ ด้าน ทำให้แผ่นใบไม่เปียกน้ำ ผิวใบด้านบนมีขนละเอียดเรียงเป็นแถว ปลายเส้นขนแตกแขนงเป็น ๔ แฉก ปลายแฉกโค้งติดกัน ผิวใบด้านล่างมีขนสีน้ำตาลเทา ส่วนใบที่ ๓ อยู่ในน้ำ แยกเป็นฝอยเรียวยาวคล้ายราก ยาว ๕-๑๐ ซม. สีขาวใส มีขนสีน้ำตาลคล้ำหนาแน่น ทำหน้าที่คล้ายราก บริเวณโคนเส้นมีสปอโรคาร์ปเรียงเป็นช่อยาวแทรกอยู่
สปอโรคาร์ปรูปทรงรี ขนาดประมาณ ๑ มม. สีน้ำตาลเข้ม มี ๒ แบบ คือ เมกะสปอโรคาร์ป ทำหน้าที่สร้างเมกะสปอร์ และไมโครสปอโรคาร์ป ทำหน้าที่สร้างไมโครสปอร์ ปรกติจอกหูหนูยักษ์มีการขยายพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ ซึ่งเกิดได้อย่างรวดเร็ว โดยแขนงหักหลุดออกจากเหง้าเป็นต้นใหม่
จอกหูหนูยักษ์เป็นพรรณไม้ต่างประเทศ มีถิ่นกำเนิดในอเมริกากลางและอเมริกาใต้ นำเข้ามาปลูกในประเทศไทยเป็นไม้ประดับในตู้หรืออ่างเลี้ยงปลา แล้วแพร่กระจายเป็นวัชพืชไปตามแหล่งน้ำในธรรมชาติ.