ตะแบกขาว

Lagerstroemia huamotensis W. J. de Wilde et Duyfjes

ชื่ออื่น ๆ
ตะแบกดอยหัวหมด (ทั่วไป)
ไม้ต้นแคระแกร็น เปลือกแตกเป็นริ้วเล็ก ๆ ตามยาว สีน้ำตาลหรือสีน้ำตาลแกมสีเทา ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามหรือเกือบตรงข้าม รูปไข่กว้างหรือรูปรีกว้าง ช่อดอกแบบช่อกระจุกสั้น ตั้งตรง ออกตามปลายกิ่ง ดอกตูมสีขาวอมเขียวอ่อน ทรงรูปไข่กลับหรือรูปลูกข่าง ขอบแฉกกลีบเลี้ยงเรียงจดกันเป็นร่อง ๖ ร่อง ดอกบานสีขาว ผลแบบผลแห้งแตกกลางพู รูปทรงรี ปลายมน มีติ่งเล็ก ผลอ่อนสีเขียว ปลายผลสีเขียวเข้มแกมสีแดง มีฐานดอกรูปถ้วยและกลีบเลี้ยงติดทนที่โคนผล ผลแห้งสีน้ำตาลเข้มเกือบสีดำ เป็นมัน เมล็ดจำนวนมาก ค่อนข้างแบน มีปีก

ตะแบกขาวเป็นไม้ต้นแคระแกร็น สูง ๔-๕ ม. เปลือกแตกเป็นริ้วเล็ก ๆ ตามยาว สีน้ำตาลหรือสีน้ำตาลแกมสีเทา เปลือกในสีน้ำตาลอมแดง กิ่งอ่อนสีแดงแกมสีเขียว รูปสี่เหลี่ยม เกลี้ยง

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามหรือเกือบตรงข้าม รูปไข่กว้างหรือรูปรีกว้าง กว้าง ๓-๕ ซม. ยาว ๔-๑๐ ซม. ปลายแหลมถึงเรียวแหลม โคนมนกลมหรือสอบเรียว ขอบเรียบ แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง เกลี้ยง สีเขียวเข้ม เป็นมัน เส้นกลางใบและขอบใบสีแดงแกมสีเขียว เส้นแขนงใบข้างละ ๕-๗ เส้น เส้นใบย่อยแบบร่างแหชัดเจน ก้านใบยาว ๒-๔ มม.

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกสั้น ตั้งตรง ออกตามปลายกิ่ง ยาวประมาณ ๕ ซม. เกลี้ยง ก้านดอกยาว ๐.๕-๑ ซม. ดอกตูมสีขาวอมเขียวอ่อน ทรงรูปไข่กลับหรือรูปลูกข่าง โคนสอบเรียว กว้างประมาณ ๑ ซม.



ยาว ๑-๑.๒ ซม. เกลี้ยง ขอบแฉกกลีบเลี้ยงเรียงจดกันเป็นร่อง ๖ ร่อง ปลายดอกตูมเป็นตุ่มเล็ก สูงประมาณ ๑ มม. สีชมพูอมแดง ดอกบานสีขาว กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกับฐานดอกรูปถ้วยคล้ายรูประฆัง ปลายแยกเป็น ๖ แฉก แต่ละแฉกรูปสามเหลี่ยม ยาวประมาณ ๕ มม. ปลายแหลม แผ่กว้าง ด้านในสีขาวอมชมพูอ่อน

กลีบดอก ๖ กลีบ รูปเกือบกลม กว้างและยาวประมาณ ๑.๕ ซม. กลีบดอกยับย่น ขอบเป็นคลื่น ก้านกลีบดอกยาว ๐.๘-๑ ซม. ติดที่บริเวณขอบฐานดอก เรียงสลับกับแฉกกลีบเลี้ยง เกสรเพศผู้มีจำนวนมาก ติดที่ด้านในของฐานดอกรูปถ้วย เรียงเป็น ๒ วง เกสรวงนอก ๑๐-๑๒ เกสร มีก้านชูอับเรณูยาวกว่าเกสรวงใน ก้านชูอับเรณูสีชมพูอมแดง อับเรณูสีน้ำตาลเข้มถึงสีดำ เมื่อดอกบานระยะแรกเรียงสมมาตรตามรัศมี เมื่อใกล้โรยเรียงสมมาตรด้านข้าง เกสรวงในจำนวนมาก ก้านชูอับเรณูสีเหลืองอมเขียว สั้นกว่าเกสรวงนอก อับเรณูสีเหลือง รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงกลม เกลี้ยง มี ๔-๕ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียวยาว ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม

 ผลแบบผลแห้งแตกกลางพู รูปทรงรี กว้างประมาณ ๑.๕ ซม. ยาว ๒-๒.๕ ซม. ปลายมน มีติ่งเล็ก ผนังผลแข็ง เป็นมัน ผลอ่อนสีเขียว ปลายผลสีเขียวเข้มแกมสีแดง โคนผลมีฐานดอกรูปถ้วยและกลีบเลี้ยงติดทน ผลแห้งแตก ๔-๕ เสี้ยว สีน้ำตาลเข้มเกือบสีดำ เมล็ดจำนวนมาก ค่อนข้างแบน มีปีก

 ตะแบกขาวเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย มีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคเหนือและภาคตะวันตกเฉียงใต้ พบตามพื้นที่เปิดโล่งบนภูเขาหินปูน ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๗๕๐-๙๕๐ ม. ออกดอกเดือนเมษายนถึงมิถุนายน เป็นผลเดือนกรกฎาคมถึงธันวาคม.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตะแบกขาว
ชื่อวิทยาศาสตร์
Lagerstroemia huamotensis W. J. de Wilde et Duyfjes
ชื่อสกุล
Lagerstroemia
คำระบุชนิด
huamotensis
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- de Wilde, Willem Jan Jacobus Oswald
- Duyfjes, Brigitta Emma Elisabeth
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- de Wilde, Willem Jan Jacobus Oswald (1936-2021)
- Duyfjes, Brigitta Emma Elisabeth (1936-)
ชื่ออื่น ๆ
ตะแบกดอยหัวหมด (ทั่วไป)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางสาวปาจรีย์ อินทะชุบ