ตะเคียนชันตาแมว

Neobalanocarpus heimii (King) P. S. Ashton

ชื่ออื่น ๆ
จีงามาส, จีรามัส, จีรายาตู, จืองา (มลายู-นราธิวาส); ตะเคียนชัน (นราธิวาส)
ไม้ต้นขนาดใหญ่ เปลือกแตกเป็นแผ่นตามยาว โคนต้นมีพูพอน ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรี รูปขอบขนาน หรือรูปใบหอก ช่อดอกแบบช่อแยกแขนงชั้นเดียว ออกตามซอกใบหรือปลายกิ่ง ดอกสีขาวนวล มีกลิ่นหอม ผลแบบผลเปลือกแข็งเมล็ดเดียว ทรงรูปไข่หรือรูปทรงกระบอก แห้งแล้วแตกเป็น ๓ ซีก มีกลีบเลี้ยงติดทนและขยายใหญ่ ขนาดเกือบเท่ากัน เมล็ดรูปคล้ายผล

ตะเคียนชันตาแมวเป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๔๐ ม. เปลือกแตกเป็นแผ่นตามยาว สีเข้ม เปลือกในสีเหลืองอ่อน โคนต้นมีพูพอน มีช่องอากาศประปราย กิ่งอ่อนมีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาล เมื่อแก่เกลี้ยง ตายอดขนาดเล็ก รูปไข่มีขนสั้นนุ่ม

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรี รูปขอบขนาน หรือรูปใบหอก กว้าง ๒-๗.๕ ซม. ยาว ๖-๑๘ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนมนหรือรูปหัวใจตื้น ๆ เบี้ยวเล็กน้อย ขอบเรียบแผ่นใบเกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบข้างละ ๘-๑๑ เส้น เส้นใบย่อยแบบขั้นบันได ก้านใบหนา ยาว ๐.๕-๑ ซม. หูใบรูปใบหอกถึงรูปแถบ ยาว ๐.๗-๑ ซม. มีขนสั้นนุ่มหรือเกลี้ยง

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนงชั้นเดียว ออกตามซอกใบหรือปลายกิ่ง ทั้งช่อยาว ๖-๘ ซม. ช่อแขนงยาว ๑-๒ ซม. ช่อย่อยมี ๓-๗ ดอก ดอกตูมรูปรี กว้างประมาณ ๓ มม. ยาวประมาณ ๖ มม. มีขนสั้นนุ่มหนาแน่น ก้านดอกสั้นมาก กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ เรียงซ้อนเหลื่อมที่โคน ด้านนอกมีขนสั้นนุ่ม กลีบนอก ๒ กลีบ รูปเกือบกลม ขนาดประมาณ ๒ มม. ปลายมน กลีบใน ๓ กลีบ รูปไข่ กว้างประมาณ ๒.๕ มม. ยาวประมาณ ๒ มม. ปลายเป็นติ่งกลีบดอกสีขาวนวล โคนเชื่อมติดกันเล็กน้อย ปลายแยกเป็น ๕ แฉก บิดเวียน รูปไข่กลับ กว้างประมาณ ๓ มม. ยาว ๕-๗ มม. ปลายมน พับงอกลับ มีเส้นกลีบประมาณ ๑๓ เส้น ด้านนอกมีขนสั้นนุ่ม ด้านในเกลี้ยง มีกลิ่นหอม


เกสรเพศผู้ ๑๕ เกสร เรียงเป็น ๓ ชั้น ก้านชูอับเรณูยาวเท่ากับอับเรณู แบนกว้างสู่โคน อับเรณูรูปขอบขนานยาวประมาณ ๒.๕ มม. มี ๔ พู ปลายมีรยางค์เป็นติ่ง โค้งลงเล็กน้อย รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ทรงรูปไข่ ยาว ๑.๓-๒ มม. มี ๒-๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียรูปเส้นด้าย ยาวประมาณ ๒ เท่าของรังไข่ ยอดเกสรเพศเมียขนาดเล็ก

 ผลแบบผลเปลือกแข็งเมล็ดเดียว ทรงรูปไข่หรือรูปทรงกระบอก กว้าง ๑.๕-๒.๕ ซม. ยาว ๒-๕ ซม. ปลายเป็นติ่งแหลม ผิวเกลี้ยง แห้งแล้วแตกเป็น ๓ ซีก มีกลีบเลี้ยงติดทนและขยายใหญ่ ขนาดเกือบเท่ากัน รูปรี ยาว ๑.๕-๒ ซม. โคนหนา ไม่เชื่อมติดกับผล ก้านผลยาว ๑-๓ มม. เมล็ดรูปคล้ายผล

 ตะเคียนชันตาแมวมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ตอนล่าง พบขึ้นในป่าดิบชื้น ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๒๐๐-๖๐๐ ม. ออกดอกเดือนกรกฎาคม เป็นผลเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ ในต่างประเทศพบที่คาบสมุทรมลายู

 ประโยชน์ เนื้อไม้มีความแข็งแรงทนทาน ใช้ก่อสร้างสิ่งที่ต้องการความคงทน และทำเครื่องเรือนคุณภาพสูง ชันมีคุณภาพสูงใช้ในอุตสาหกรรมหลายประเภท.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตะเคียนชันตาแมว
ชื่อวิทยาศาสตร์
Neobalanocarpus heimii (King) P. S. Ashton
ชื่อสกุล
Neobalanocarpus
คำระบุชนิด
heimii
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- King, George
- Ashton, Peter Shaw
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- King, George (1840-1909)
- Ashton, Peter Shaw (1934-)
ชื่ออื่น ๆ
จีงามาส, จีรามัส, จีรายาตู, จืองา (มลายู-นราธิวาส); ตะเคียนชัน (นราธิวาส)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ราชันย์ ภู่มา