จอกหูหนูเป็นเฟิร์นน้ำขนาดเล็ก เหง้าเรียวยาวเส้นผ่านศูนย์กลาง ๑-๒ มม. แตกกิ่งสาขาทอดขนานไปกับผิวน้ำ ลักษณะเป็นแพ ลอยอิสระไปตามน้ำ
ใบเดี่ยว เรียงเป็นวงรอบ แต่ละข้อมี ๓ ใบ ใบมีรูปร่าง ๒ แบบ ใบที่อยู่เหนือน้ำมี ๒ ใบ สีเขียวสดหรือเขียวอมน้ำตาล รูปกลมรี กว้าง ๑-๒ ซม. ยาว ๑-๑.๕ ซม. ปลายมน โคนตัด ขอบเรียบ แผ่นใบโค้งขึ้นเป็นรูปถ้วยคล้ายหูหนู เนื้อใบหนาและนุ่ม มีขนหนาแน่นทั้ง ๒ ด้าน ทำให้แผ่นใบไม่เปียกน้ำ ผิวใบด้านบนมีขนละเอียดเรียงเป็นแถวไม่เป็นระเบียบ ปลายเส้นขนลักษณะโค้งแหลมเรียว ไม่แตกแขนง ผิวใบด้านล่างมีขนสีน้ำตาลเทา ส่วนใบที่ ๓ อยู่ในน้ำ แยกเป็นเส้นเรียวยาวคล้ายราก ยาว ๓-๑๐ ซม. สีขาว มีขนสีน้ำตาลคล้ำหนาแน่น ทำหน้าที่คล้ายราก บริเวณโคนเส้นมีสปอโรคาร์ปเรียงเป็นช่อยาวแทรกอยู่
สปอโรคาร์ปรูปทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑ มม. สีน้ำตาลเข้ม มี ๒ แบบ คือ เมกะสปอโรคาร์ป ทำหน้าที่สร้างเมกะสปอร์ และไมโครสปอโรคาร์ป ทำหน้าที่สร้างไมโครสปอร์ ปรกติจอกหูหนูมีการขยายพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ ซึ่งเกิดได้อย่างรวดเร็ว โดยแขนงหักหลุดออกจากเหง้าเป็นต้นใหม่
จอกหูหนูมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค พบตามแหล่งน้ำจืดทั่วไป โดยเฉพาะแหล่งน้ำนิ่งในธรรมชาติและแหล่งน้ำชลประทาน บางครั้งพบอยู่ตามดินโคลนแฉะริมน้ำ ในบริเวณพื้นที่เปิดโล่ง ในต่างประเทศพบที่อินเดียจนถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
จอกหูหนูเจริญได้ดีมากจนบางครั้งระบาดเป็นวัชพืชที่ทำความเสียหายกับแหล่งน้ำบริเวณนั้น ๆ เช่น ในนาข้าว อ่างเก็บน้ำ ส่วนการใช้ประโยชน์นิยมนำจอกหูหนูไปเลี้ยงสัตว์ เช่น เป็ด ห่าน และหมู.