ตะแบกกรายเป็นไม้ต้น ผลัดใบ สูง ๔-๑๕ ม. มักแตกกิ่งใกล้ยอด เปลือกสีเขียวอมเทา เรียบหรือเป็นแอ่งตื้น กิ่งมีช่องอากาศ มีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาลหนาแน่น ต้นเล็กมีกิ่งลดรูปคล้ายหนาม
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามหรือเกือบตรงข้าม รูปไข่หรือรูปไข่แกมรูปขอบขนาน กว้าง ๑-๓ ซม. ยาว ๓-๑๐ ซม. ปลายมนหรือแหลม โคนมนหรือตัด ขอบมีขนครุยหนาแน่น ที่ขอบใบใกล้โคนมีต่อม ๑ คู่ แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ด้านบนค่อนข้างเกลี้ยงหรือมีขนสั้นหนาแน่นตามเส้นแขนงใบ ด้านล่างมีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาลหนาแน่น เส้นกลางใบและเส้นแขนงใบเป็นสันนูนทางด้านล่าง เส้นแขนงใบข้างละ ๘-๑๘ เส้น เส้นใบย่อยแบบร่างแห ก้านใบสีเขียวหรือสีน้ำตาลอมแดง ยาว ๐.๓-๑ ซม. มีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาลหนาแน่น
ดอกแยกเพศร่วมต้นร่วมช่อ ช่อดอกแบบช่อเชิงลด ออกที่ปลายกิ่งหรือตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง มักออกพร้อมผลิใบใหม่ ก้านช่อดอกสั้น แกนกลางช่อสีแดงอมน้ำตาล ยาว ๔-๑๐ ซม. มีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาลหนาแน่น ใบประดับรูปไข่กลับหรือรูปลิ้นแกมรูปไข่กลับ ยาวประมาณ ๑.๕ มม. ร่วงง่าย ดอกสีขาวนวลหรือสีขาวอมเหลือง ไร้กลีบดอก ดอกเพศผู้มักอยู่ที่ปลายช่อ กว้าง ๒.๕-๓ มม. ยาว ๓-๔ มม. กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันคล้ายรูปถ้วยตื้น สูง ๑-๒ มม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉก แต่ละแฉกรูปสามเหลี่ยม ยาว ๐.๕-๑ มม. มีขนทั้ง ๒ ด้าน เกสรเพศผู้ ๑๐ เกสร ก้านชูอับเรณูคล้ายเส้นด้าย ยาว ๔-๘ มม. อับเรณูติดแบบไหวได้ ยาวประมาณ ๐.๕ มม. จานฐานดอกหยักมน มีขนหนาแน่น ดอกเพศเมียคล้ายดอกเพศผู้ มีรังไข่อยู่ใต้วงกลีบ คล้ายรูปกระสวย กว้างประมาณ ๑ มม. ยาว ๑-๑.๕ มม. มีขนหนาแน่น มี ๑ ช่อง มีออวุล ๒-๓ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียคล้ายเส้นด้ายเรียว ยาว ๒.๕-๕ มม. ยอดเกสรเพศเมียมีขนาดเล็ก
ผลแบบผลแห้งไม่แตก ทรงรูปไข่แกมรูปขอบขนาน กว้าง ๖-๘ มม. ยาว ๐.๙-๑.๒ ซม. มีปีก ๕ ปีก รูปไข่กว้าง กว้าง ๓-๔ มม. ยาว ๑-๑.๒ ซม. เมื่ออ่อนสีเขียวอมเหลือง เมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีเหลืองอมน้ำตาล มีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาลหนาแน่น ปลายผลเป็นติ่ง ยาว ๑-๒ มม. มักมีเมล็ด ๑ เมล็ด
ตะแบกกรายมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค พบตามป่าเบญจพรรณและป่าดิบ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางจนถึงประมาณ ๑,๐๐๐ ม. ออกดอกเดือนกุมภาพันธ์ถึงกรกฎาคม เป็นผลเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม ในต่างประเทศพบที่ภูมิภาคอินโดจีน
ประโยชน์ เนื้อไม้ใช้ในการก่อสร้างหรือใช้ทำเฟอร์นิเจอร์.