ตะเคียนแก้วเป็นไม้ต้นสูง ๓๐-๔๐ ม. เปลือกแตกเป็นสะเก็ด โคนต้นมีพูพอน บางครั้งกิ่งมีช่องอากาศประปราย ตายอดรูปไข่ ยาวประมาณ ๕ มม. ด้านนอกมีขนเป็นกระจุกสั้นนุ่มสีน้ำตาลแดง
ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรีหรือรูปไข่ กว้าง ๒.๕-๕ ซม. ยาว ๔-๑๑ ซม. ปลายเรียวแหลม ยาวประมาณ ๑ ซม. โคนรูปลิ่มหรือรูปลิ่มกว้าง เบี้ยวเล็กน้อย ขอบเรียบด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมีขนประปราย เส้นแขนงใบข้างละ ๑๐-๑๓ เส้น โค้งจดกันใกล้ขอบใบไม่ชัดเจน มีตุ่มใบเป็นขนสั้นนุ่มโดยเฉพาะช่วงใกล้โคนใบ เส้นใบย่อยแบบขั้นบันไดถี่ เห็นชัดทั้ง ๒ ด้าน เส้นกลางใบเป็นร่องทางด้านบน ก้านใบยาว ๐.๕-๑ ซม. หูใบรูปแถบหรือรูปใบหอก ยาว ๔-๕ มม. ทั้งก้านใบและหูใบมีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาลแดงเป็นกระจุก
ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามซอกใบหรือปลายกิ่ง ทั้งช่อยาว ๒-๕ ซม. แต่ละช่อย่อยมี ๓-๑๐ ดอก เรียงด้านเดียว ดอกตูมรูปรีหรือรูปไข่ ยาว ๒-๓ มม. ก้านดอกยาว ๑-๒ มม. กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ รูปไข่ เรียงซ้อนเหลื่อมกัน ด้านนอกมีขนเป็นกระจุกสั้นนุ่มสีน้ำตาลแดง กว้างประมาณ ๑ มม. ยาว ๑-๑.๕ มม. กลีบนอก ๒ กลีบ กว้างกว่ากลีบใน ๓ กลีบเล็กน้อย กลีบดอกสีขาวนวล โคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น ๕ แฉก บิดเวียนรูปขอบขนาน โค้งเล็กน้อย กว้าง ๑-๑.๕ มม. ยาว ๒-๓.๕ มม. ปลายมน เกสรเพศผู้ ๑๐ เกสร เกลี้ยง ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ ๐.๕ มม. โคนแผ่กว้าง อับเรณูรูปทรงรี ยาวประมาณ ๐.๒ มม. มี ๔ พู ปลายมีรยางค์ยาวเท่าอับเรณูหรือยาวกว่าเล็กน้อย รังไข่อยู่เหนือวงกลีบมี ๒-๓ ช่องแต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด ฐานก้านยอดเกสรเพศเมียรูปทรงกระบอก ยาวประมาณ ๑.๒ มม. มีขนละเอียดช่วงปลาย ก้านยอดเกสรเพศเมียหนาและสั้นยาว ๐.๒-๐.๔ มม. ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๓ พู ไม่ชัดเจน
ผลแบบผลเปลือกแข็งเมล็ดเดียว ทรงรูปไข่ค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๔-๖ มม. ปลายเป็นติ่งแหลมสั้น ๆ เกลี้ยงหรือมีขนประปราย มีกลีบเลี้ยงติดทนและขยายเป็นปีก ๕ ปีก ปีกยาว ๒ ปีก รูปใบพายกว้าง ๐.๘-๑.๕ ซม. ยาว ๔-๗ ซม. โคนเรียวแคบ มีเส้นปีก ๗-๙ เส้น ปีกสั้น ๓ ปีก รูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๐.๔ มม. ยาวประมาณ ๐.๗ มม. มีขนสั้นนุ่มประปรายโคนหนา ก้านผลหนา ยาวประมาณ ๑ มม. เมล็ดรูปคล้ายผล มี ๑ เมล็ด
ตะเคียนแก้วมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ พบขึ้นในป่าดิบชื้นใกล้ลำธาร ที่สูงจากระดับทะเลปานกลางประมาณ ๕๕๐ ม. ออกดอกเดือนกุมภาพันธ์ถึงมิถุนายน เป็นผลเดือนมีนาคมถึงกันยายนในต่างประเทศพบที่คาบสมุทรมาเลเซีย เกาะบอร์เนียว เกาะสุมาตรา และเกาะชวา
ประโยชน์ เนื้อไม้มีความแข็งแรงทนทาน ใช้ก่อสร้างสิ่งที่ต้องการความคงทน ชันมีคุณภาพปานกลางใช้ในอุตสาหกรรมบางประเภท.