ชมพูภูพิงค์เป็นไม้ต้น ผลัดใบ กิ่งเกลี้ยง
ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปไข่หรือรูปใบหอก กว้าง ๓-๕ ซม. ยาว ๕-๑๒ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนรูปลิ่มกว้างกึ่งมนกลม ขอบจักฟันเลื่อยหรือจักฟันเลื่อยซ้อนแผ่นใบบางคล้ายกระดาษ เกลี้ยง เส้นแขนงใบข้างละ ๙-๑๒ เส้น ก้านใบยาว ๐.๘-๑.๕ ซม. มีต่อม ๒-๔ ต่อมหรือไม่มี หูใบร่วงง่าย แยกเป็นแฉกลึกหลายแฉกแต่ละแฉกมีขนต่อมประปราย
ช่อดอกแบบช่อซี่ร่ม ช่อเชิงหลั่น หรือเป็นกระจุกออกตามกิ่ง แต่ละช่อมักมี ๓ ดอก ก้านดอกเรียว ยาว ๑.๗-๒ ซม. ใบประดับรูปใบหอกกลับถึงรูปไข่กลับเกือบกลม ดอกดกออกพร้อมใบอ่อน สีชมพูถึงสีขาวอมชมพู เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑-๒ ซม. กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมกับฐานดอกรูปถ้วยเป็นหลอดรูปกรวยคว่ำ ปลายแยกเป็น ๕-๑๐ แฉก แฉกรูปคล้ายสามเหลี่ยมปลายแหลมหรือมน หลอดกลีบเลี้ยงสีแดง ด้านนอกเกลี้ยงด้านในมีขนสั้นนุ่ม กลีบดอกติดที่ขอบฐานดอกรูปถ้วยมี ๕ กลีบ รูปไข่กลับ รูปรี หรือรูปค่อนข้างกลม กว้าง ๔-๘ มม. ยาว ๐.๗-๑ ซม. เห็นเส้นกลีบชัด เกสรเพศผู้ ๓๐-๓๕ เกสร ติดรอบขอบฐานดอกรูปถ้วย ก้านชูอับ
ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง ทรงรูปไข่หรือรูปทรงรียาวประมาณ ๑.๕ ซม. สุกสีแดง เมล็ดแข็ง ผิวมีรอยย่นมี ๑ เมล็ด
ชมพูภูพิงค์มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ พบตามป่าดิบเขาที่สูงจากระดับทะเลประมาณ ๑,๕๐๐ ม. ออกดอกเดือนธันวาคมถึงมกราคม เป็นผลเดือนเมษายนถึงพฤษภาคมในต่างประเทศพบที่เทือกเขาหิมาลัย เมียนมาจีนตอนใต้ ทางเหนือของเวียดนาม และทางเหนือของลาว
ประโยชน์ ผลสุกรสเปรี้ยว กินได้.