จอกหินชนิดนี้เป็นพืชล้มลุกหลายปี ในฤดูแล้งส่วนอื่น ๆ เหี่ยวตายไป เหลือเฉพาะหัวคล้ายมันฝรั่งขนาดเล็กที่มักฝังในรอยแตกของหินที่ขึ้นอยู่ลำต้นตั้งตรงไม่แยกสาขา สูง ๐.๕-๙ ซม. มีขนประปราย
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม มี ๑-๓ คู่ เป็นพืชที่มีใบ ๒ แบบ รูปร่างคล้ายกันแต่ขนาดต่างกัน ใบขนาดใหญ่มี ๑ คู่ ใบคู่ที่เหลือมีขนาดเท่ากันและเล็กกว่าใบคู่ใหญ่หลายเท่า ใบคู่ใหญ่กว้าง ๑.๓-๑๓ ซม. ยาว ๑.๖-๘.๕ ซม. ใบคู่เล็กกว้าง ๐.๓-๑ ซม. ยาว ๑.๕-๔ ซม. รูปรีหรือรูปไข่ ปลายแหลม โคนสอบหรือแหลม ขอบเรียบ
ช่อดอกแบบช่องวงแถวเดี่ยว ออกตามปลายยอด ก้านดอกเรียงถี่คล้ายช่อซี่ร่ม ก้านช่อดอกยาว ๐.๕-๔.๕ ซม. เกลี้ยง ใบประดับเชื่อมกันที่โคนประมาณ ๑ ใน ๔ ถึงครึ่งหนึ่งของความยาว เป็นรูปถ้วยรองรับช่อดอก ปลายแยกเป็น ๔ แฉก แฉกที่อยู่ตรงข้ามมีลักษณะเหมือนกัน แฉกกว้าง ๐.๕-๔ มม. ยาว ๐.๓-๔ มม. สีเขียวอ่อน เกลี้ยงหรือมีขนสั้นประปราย ก้านดอกยาว ๐.๓-๑ ซม. กลีบเลี้ยงสีเขียวอ่อน โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้นมาก ปลายแยกเป็น ๔ แฉก แต่ละแฉกรูปสามเหลี่ยม กว้าง ๑-๒.๕ มม. ยาว ๐.๕-๑ มม. กลีบดอกสีขาว โคนเชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง กว้าง ๐.๔-๒.๕ มม. ยาว ๐.๓-๒.๕ มม. เกลี้ยง ปลายแยกเป็น ๔ แฉกกว้าง ๐.๕-๑.๕ มม. ยาว ๐.๕-๒.๕ มม. เกสรเพศผู้ ๔ เกสร ติดใกล้โคนหลอดกลีบดอก เรียงสลับกับแฉกกลีบดอก อับเรณูติดที่ฐาน แตกเป็นรูเกือบปลายสุดของอับเรณู รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ติดรอบแกนร่วม ก้านยอดเกสรเพศเมียรูปเส้นด้าย ยาว ๒-๓ มม. ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม
ผลแบบผลแห้งแตก มีฝาปิดด้านบน เปิดออกเมื่อมีละอองน้ำมากระทบ เมล็ดขนาดเล็ก มีจำนวนมาก
จอกหินชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันตกเฉียงใต้ และภาคใต้ พบขึ้นบนหินที่ชื้นแฉะตามลำธารน้ำตก หรือเขาหินปูน ในป่าดิบชื้น ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๕๐๐ ม. ออกดอกเดือนมิถุนายนถึงพฤศจิกายน เป็นผลเดือนสิงหาคมถึงธันวาคม ในต่างประเทศพบที่กัมพูชาและภูมิภาคมาเลเซีย.