คอกิ่ง ๑

Desmodium zonatum Miq.

ไม้พุ่ม กิ่งอ่อนและช่อดอกมีขนรูปตะขอ ใบประกอบแบบขนนก ลดรูปเหลือใบเดียว เรียงเวียนรูปขอบขนานหรือรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกที่ยอดหรือตามซอกใบ ดอกรูปดอกถั่ว สีขาวถึงสีชมพู ผลแบบผลแห้งไม่แตก เป็นฝักรูปทรงกระบอก คอดเป็นข้อระหว่างเมล็ด เมล็ดแบน รูปไต สีนํ้าตาล

คอกิ่วชนิดนี้เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูง ๐.๓-๑ ม. กิ่งอ่อนและช่อดอกมีขนรูปตะขอสั้น ๆ

 ใบประกอบแบบขนนก ลดรูปเหลือใบเดียวเรียงเวียน รูปขอบขนานหรือรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก กว้าง ๒-๕ ซม. ยาว ๕-๑๕ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนมน ขอบเรียบ แผ่นใบด้านบนมีขนรูปตะขอประปราย ด้านล่างมีขนสั้นนุ่ม เส้นแขนงใบข้างละ ๗-๑๐ เส้น ก้านใบยาว ๑-๓ ซม. ก้านใบย่อยยาวประมาณ ๓ มม. หูใบรูปสามเหลี่ยมแคบ ปลายเรียวแหลม กว้าง ๒-๓ มม. ยาว ๐.๕-๑ ซม. หูใบย่อยเรียวคล้ายขน ยาว ๔-๗ มม.

 ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกที่ยอดหรือตามซอก ใบ ยาว ๘-๒๕ ซม. ใบประดับรูปสามเหลี่ยม ปลายเรียวแหลม กว้าง ๑-๑.๕ มม. ยาว ๓-๕ มม. ก้านดอกยาว ๐.๕-๑ ซม. ดอกรูปดอกถั่ว ยาว ๐.๘-๑ ซม. กลีบเลี้ยง ยาว ๒-๓ มม. โคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ปลายแยกเป็นแฉกรูปสามเหลี่ยม ๔ แฉก มีขนรูปตะขอ กลีบดอก ๕ กลีบ สีขาวถึงสีชมพู กลีบกลางรูปไข่กลับ กว้าง ๔-๖ มม. ยาว ๖-๗ มม. กลีบคู่ข้างกว้างประมาณ ๒ มม. ยาวประมาณ ๖ มม. ปลายมนกลม กลีบคู่ล่างติดกันเป็นรูปท้องเรือ กว้างประมาณ ๒ มม. ยาวประมาณ ๖.๕-๗ มม. ปลายมน เกสรเพศผู้ ๑๐ เกสร ก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกันเป็นแผ่น รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปขอบขนาน ขนาดเล็ก มีขน มี ๑ ช่อง ออวุล ๖-๘ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียโค้ง ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม

 ผลแบบผลแห้งไม่แตก เป็นฝักรูปทรงกระบอกกว้างประมาณ ๓ มม. ยาว ๕-๑๐ ซม. มีขนรูปตะขอคอดเป็นข้อระหว่างเมล็ด ๖-๘ ข้อ หลุดจากกันเมื่อแก่ เมล็ดแบน รูปไต สีน้ำตาล กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๓ มม.

 คอกิ่วชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือและภาคตะวันตกเฉียงใต้ พบขึ้นในป่าเบญจพรรณใกล้ภูเขาหินปูน ที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๑๕๐-๗๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่พม่าและลาว.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
คอกิ่ง ๑
ชื่อวิทยาศาสตร์
Desmodium zonatum Miq.
ชื่อสกุล
Desmodium
คำระบุชนิด
zonatum
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Miquel, Friedrich Anton Wilhelm
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1811-1871)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ชวลิต นิยมรรรม