ไก่ไห้

Capparis flavicans Kurz

ชื่ออื่น ๆ
กระจิก (กลาง); กระโปงแจง (สุโขทัย); ก่อทิง (ชัยภูมิ); กะอิด (ราชบุรี); โกโรโกโส, หนามนมวัว (นครราชสี
ไม้พุ่มหรือไม้ต้น กิ่งก้านมีขนรูปดาวสีน้ำตาลอมเหลืองใบเรียงสลับ รูปไข่กลับหรือรูปรี ดอกสีเหลือง ออกตามง่ามใบผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปรีหรือค่อนข้างกลม

ไก่ไห้เป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้น สูง ๒-๑๐ ม. กิ่งก้านมีขนรูปดาวสีน้ำตาลอมเหลือง มีหนามตรงหรือโค้งเล็กน้อย ยาว ๑-๓ มม.

 ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่กลับหรือรูปรี กว้าง ๑-๒ ซม. ยาว ๑.๕-๓ ซม. ปลายมีติ่งเล็ก ๆ หรือเว้าตื้น โคนมน แผ่นใบค่อนข้างหนา มีขนสีน้ำตาลอมเหลืองหนาแน่นและจะร่วงไปเหลือเพียงเล็กน้อยเมื่อใบแก่ เส้นแขนงใบข้างละ ๓-๕ เส้น ๒ คู่แรกมักออกใกล้โคนใบ ก้านใบยาว ๓-๔ มม.

 ดอกสีเหลือง ออกเดี่ยวตามง่ามใบ ก้านดอกยาว ๑-๓ ซม. กลีบเลี้ยง ๔ กลีบ กว้าง ๔-๕ มม. ยาว ๕-๘ มม. กลีบดอก ๔ กลีบ รูปไข่กลับ กว้าง ๔-๖ มม. ยาว ๘-๙ มม. ทั้งกลีบเลี้ยงและกลีบดอกด้านนอกมีขนสีน้ำตาลอมเหลืองหนาแน่น เกสรเพศผู้ ๖-๑๒ อัน สีค่อนข้างเหลือง ก้านชูเกสรเพศเมียโค้ง ยาว ๑.๕-๒.๕ ซม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบรูปรีหรือรูปไข่ มี ๑ ช่อง มีออวุลหลายเม็ด ทั้งก้านชูเกสรเพศเมียและรังไข่มีขนหนาแน่น

 ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปรีหรือค่อนข้างกลม กว้าง ๒.๕-๓.๕ ซม. ยาว ๒.๕-๔ ซม. ปลายเป็นติ่งแหลม ผิวตะปุ่มตะป่ำมีขนสีเทา เมล็ดกว้าง ๓-๗ มม. ยาว ๖-๘ มม. มีเนื้อสีเหลืองหุ้ม

 ไก่ไห้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค พบตามป่าละเมาะ ป่าเบญจพรรณ บนพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๔๐-๓๕๐ ม. ออกดอกตั้งแต่เดือนธันวาคมถึงเมษายน เป็นผลเดือนพฤษภาคมถึงพฤศจิกายน ในต่างประเทศพบที่พม่าตอนกลางตลอดลงมาถึงตอนใต้ของภูมิภาคอินโดจีน

 เป็นพืชสมุนไพร ใบกินเป็นยาขับน้ำนม เนื้อไม้ป่นเป็นผงทำเป็นควันใช้สูดแก้อาการวิงเวียนศีรษะ

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ไก่ไห้
ชื่อวิทยาศาสตร์
Capparis flavicans Kurz
ชื่อสกุล
Capparis
คำระบุชนิด
flavicans
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Kurz, Wilhelm Sulpiz
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1834-1878)
ชื่ออื่น ๆ
กระจิก (กลาง); กระโปงแจง (สุโขทัย); ก่อทิง (ชัยภูมิ); กะอิด (ราชบุรี); โกโรโกโส, หนามนมวัว (นครราชสี
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ก่องกานดา ชยามฤต