ไกรทองเป็นไม้ต้น สูง ๔-๑๕ ม. อาจสูงได้ถึง ๓๐ ม. เปลือกสีน้ำตาล แตกเป็นร่องเล็ก ๆ ตามยาว เปลือกในสีเหลืองถึงน้ำตาลอมแดง กระพี้สีเหลือง แก่นสีแดงถึงน้ำตาลอมแดง กิ่งมักตั้งฉากกับลำต้น กิ่งอ่อนค่อนข้างแบน มีรอยแผลหูใบรอบกิ่ง หูใบรูปสามเหลี่ยม กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๖ มม. ร่วงง่าย
ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่กลับ รูปรี หรือรูปขอบขนาน กว้าง ๒-๔ ซม. ยาว ๓-๑๑ ซม. ปลายมนหรือหยักเว้าเล็กน้อย โคนสอบ ขอบเรียบ แผ่นใบด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมันด้านล่างสีเขียวอ่อนและมีนวลเล็กน้อย เส้นใบเห็นชัดทางด้านล่าง เส้นแขนงใบข้างละ ๗-๑๐ เส้น ปลายจรดกันก่อนถึงขอบใบ ก้านใบยาว ๒-๗ มม.
ดอกเล็ก สีขาวหรือขาวอมเขียว ออกเดี่ยวหรือเป็นกลุ่มตามง่ามใบ กลุ่มละ ๒-๘ ดอก ใบประดับ ๒ ใบ รูปสามเหลี่ยม ขนาดเล็กมาก ก้านดอกยาว ๐.๕-๑ ซม. กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ โคนติดกันเป็นรูประฆัง ยาวประมาณ ๒ มม. กลีบดอก ๕ กลีบ รูปขอบขนานหรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่ กว้างประมาณ ๒ มม. ยาว ๓-๔ มม. เกสรเพศผู้ ๑๐ อัน โคนติดกันเป็นหลอดยาว ๑-๒ มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด แต่เจริญเพียง ๑ เมื่อ ก้านยอดเกสรเพศเมีย ๓ อัน
ผลแบบผลเมล็ดเดียวแข็ง รูปรีแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๓-๖ มม. ยาว ๐.๗-๑.๒ ซม. มี ๓ พุ และยังคงเหลือกลีบเลี้ยงติดอยู่ที่ขั้วผล ผลสุกสีแดงสดเป็นมัน มี ๑ เมล็ด เมล็ดแบนโค้ง กว้าง ๑-๓ มม. ยาว ๑.๕-๑ ซม.
ไกรทองมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาคขึ้นตามป่าดิบใกล้ชายทะเลและป่าดิบแล้ง บนพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๕-๓๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่พม่า เวียดนามตอนใต้ และภูมิภาคมาเลเซีย
ไม้ใช้ทำเสาเข็ม ในฟิลิปปินส์ใช้เป็นยาเบื่อปลา (Burkill, 1966).