ไกรกรัน

Jasminum anamense Wernham subsp. anamense

ไม้เถาเนื้อแข็ง ยอดอ่อนมีขนกำมะหยี่ ใบเรียงตรงข้ามรูปไข่ ช่อดอกแบบช่อกระจุกแกมช่อเชิงหลั่น ออกตามปลายกิ่งดอกสีขาว มี ๖-๘ แฉก ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ดออกเดี่ยวหรือเป็นคู่ รูปรี

ไกรกวันเป็นไม้เถาเนื้อแข็ง ยอดอ่อนมีขนกำมะหยี่

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปไข่ กว้าง ๒-๖ ซม. ยาว ๔-๑๒ ซม. ปลายแหลมถึงเรียวแหลม โคนมนถึงตัด ด้านบนค่อนข้างเกลี้ยง ด้านล่างมีขนกำมะหยี่ เส้นแขนงใบข้างละ ๓-๔ เส้น ด้านบนเป็นร่อง ด้านล่างนูน ก้านใบยาว ๐.๕-๑.๕ ซม. มีขนกำมะหยี่

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกแกมช่อเชิงหลั่น ออกตามปลายกิ่ง กว้าง ๕-๑๕ ซม. ยาว ๔-๑๐ ซม. มีขนกำมะหยี่ ใบประดับ รูปใบหอกแกมรูปแถบถึงรูปใบหอก ยาว ๐.๕-๒ ซม. แต่ละช่อมีดอกตั้งแต่ ๑๐ ดอก ถึงจำนวนมาก ก้านดอกยาว ๐.๒-๑.๕ ซม. กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาวประมาณ ๒ มม. ปลายแยกเป็นแฉกคล้ายเส้นด้าย ๕-๙ แฉก ยาว ๑-๑.๗ ซม. มีขนอุย กลีบดอกสีขาว โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาว ๑.๕-๒.๒ ซม. ปลายแยก ๖-๘ แฉก กว้าง ๒-๓ มม. ยาว ๐.๘-๑.๒ ซม. เกสรเพศผู้ ๒ อัน ไม่มีก้านชูอับเรณู อับเรณูรูปขอบขนานแกมรี แตกตามยาว แกนอับเรณูย่น ปลายแหลมยาวออกไปประมาณ ๑ มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปคล้ายกระบอกตรงกลางป่อง ยาวประมาณ ๑ มม. มี ๒ ช่อง


แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมีย ๑ อัน ยอดเกสรเพศเมีย ๒ แฉก ยาวประมาณ ๓ มม. ปลายแหลม

 ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปรี กว้างประมาณ ๖ มม. ยาวประมาณ ๑ ซม. ออกเดี่ยวหรือเป็นคู่ ผลสุกสีค่อนข้างดำ และคงเหลืออยู่เพียงเมล็ดเดียว

 ไกรกรันมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออกเฉียงใต้ พบตามป่าดิบหรือทุ่งหญ้าที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๕๐-๖๐๐ ม. ในต่างประเทศพบทางใต้ของเวียดนาม.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ไกรกรัน
ชื่อวิทยาศาสตร์
Jasminum anamense Wernham subsp. anamense
ชื่อสกุล
Jasminum
คำระบุชนิด
anamense
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Wernham, Hebert Fuller
ชื่อชนิดย่อย (ถ้ามี)
subsp. anamense
ชื่อผู้ตั้งชนิดย่อย (ถ้ามี)
- -
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1879-1941)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางลีนา ผู้พัฒนพงศ์