ไกร

Ficus superba (Miq.) Miq. var. superba

ชื่ออื่น ๆ
ไทรเลียบ (ประจวบคีรีขันธ์), โพไทร (นครราชสีมา)
ไม้ต้น ผลัดใบ มียางสีขาว ใบเรียงเวียน รูปรีแกมรูปขอบขนานหรือรูปไข่กลับ ปลายแหลมยิ่งหรือเรียวแหลมก้านใบยาว ผลแบบมะเดื่อ สีขาวอมชมพู

ไกรชนิดนี้เป็นไม้ต้น สูง ๘-๑๐ ม. ผลัดใบ มียางสีขาว เปลือกสีเทา ทุกส่วนเกลี้ยงยกเว้นหูใบ

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรี รูปรีแกมรูปขอบขนาน หรือรูปไข่กลับ กว้าง ๕-๑๓ ซม. ยาว ๑๒-๒๕ ซม. ปลายแหลมยิ่งหรือเรียวแหลม โคนแหลม ขอบเรียบหรือเป็นคลื่น เส้นแขนงใบข้างละ ๖-๘ เส้น ปลายโค้งจรดกันก่อนถึงขอบใบแผ่นใบค่อนข้างบาง ก้านใบยาว ๘-๑๔ ซม. หูใบ ๒ อัน ประกบกันหุ้มยอดอ่อน รูปไข่ปลายแหลม ยาว ๑-๑.๕ ซม. มีขนสั้น ๆ สีเหลืองอ่อน ร่วงง่าย

 ช่อดอกและผลแบบเดียวกับชนิดแรก ออกเป็นคู่ตรงง่ามใบหรือเหนือรอยแผลใบ เมื่อยังอ่อนมีขนอ่อนสั้น ๆ เมื่อแก่เกลี้ยง


มีใบประดับ ๓ ใบร่วงง่าย ดอกเพศผู้มีจำนวนน้อยมาก อยู่ใกล้รูเปิดของช่อดอก ก้านดอกเล็ก กลีบรวม ๓ กลีบ รูปไข่สั้นกว่าเกสรเพศผู้ก้านชูอับเรณูหนา ดอกเพศเมียมีจำนวนมากมีกลีบรวมสั้น ๆ ๓ กลีบ รูปไข่กลับ เกสรเพศเมียยาว อยู่ทางด้านข้างของรังไข่

 ผลแบบมะเดื่อ สีขาวอมชมพู รูปกลมแกมรูปไข่กลับ กว้าง ๑.๘-๒.๕ ซม. ภายในมีผลเล็ก ๆ รูปไข่กลับจำนวนมาก ก้านผลยาว ๐.๗-๑.๕ ซม.

 ไกรชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาคขึ้นบนพื้นที่ระดับน้ำทะเลจนถึงสูงประมาณ ๑๕๐ ม. ออกดอกและเป็นผลระหว่างเดือนมกราคมถึงเมษายน ในต่างประเทศพบที่ภูมิภาคอินโดจีนและภูมิภาคมาเลเซีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ไกร
ชื่อวิทยาศาสตร์
Ficus superba (Miq.) Miq. var. superba
ชื่อสกุล
Ficus
คำระบุชนิด
superba
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Miquel, Friedrich Anton Wilhelm
ชื่อชนิดย่อย (ถ้ามี)
var. superba
ชื่อผู้ตั้งชนิดย่อย (ถ้ามี)
- -
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Miquel, Friedrich Anton Wilhelm (1811-1871)
ชื่ออื่น ๆ
ไทรเลียบ (ประจวบคีรีขันธ์), โพไทร (นครราชสีมา)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ.บุศบรรณ ณ สงขลา