ไกร

Ficus concinna Miq.

ชื่ออื่น ๆ
กร่าง, ไทรกร่าง (กรุงเทพฯ), ไฮฮี (เพชรบูรณ์)
ไม้ต้น ผลัดใบ มียางสีขาว รากอากาศเกิดใกล้โคนต้นใบเรียงเวียน รูปรีหรือรูปใบหอกกลับ ปลายแหลม เส้นกลาง ใบสีขาว ใบอ่อนสีชมพู ผลแบบมะเดื่อ สีชมพู

ไกรชนิดนี้เป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๓๐ ม. รากอากาศเกิดใกล้โคนต้น ลำต้นและทุกส่วนสีน้ำตาล มียางสีขาว ไม่มีขน ใบอ่อนสีชมพู

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรีหรือรูปใบหอกกลับ กว้าง ๒-๔ ซม. ยาว ๕-๘.๕ ซม. ปลายแหลมหรือแหลมติ่งสั้น ๆ โคนแหลมหรือสอบ ขอบเรียบ แผ่นใบหนา เส้นแขนงใบข้างละ ประมาณ ๑๒ เส้น ปลายจรดกันก่อนถึงขอบใบ เส้นกลางใบสีขาว เห็นเด่นชัดทั้ง ๒ ด้าน ก้านใบยาว ๑.๒-๑.๕ ซม. หูใบ ๒ อัน ประกบกันหุ้มยอดอ่อน รูปไข่แกมรูปใบหอก ร่วงง่าย

 ช่อดอกออกเป็นคู่ตามง่ามใบและอยู่ทางด้านล่างของใบมีใบประดับเล็ก ๆ ๓ ใบ รูปคล้ายสามเหลี่ยม ร่วงง่าย ก้านช่อดอกยาว ๑-๕ มม. ช่อดอกรูปร่างคล้ายผล คือมีฐานรองดอกเจริญเปลี่ยนแปลงขยายใหญ่เป็นกระเปาะมีรูเปิดที่ปลายโอบดอกไว้ ดอกเล็กมาก แยกเพศอยู่ภายในกระเปาะ ดอกเพศผู้มีจำนวนน้อย อยู่ใกล้รูเปิด ไม่มีก้าน มีกลีบรวมบาง ๆ ๒ กลีบ ขนาดใหญ่กว่าเกสรเพศผู้ ดอกเพศเมียไม่มีกลีบดอกเช่นกัน มีกลีบรวมบาง ๆ ๔ กลีบหรือไม่มี

 ผลแบบมะเดื่อ สีชมพู รูปกลม กว้างประมาณ ๖ มม. มีจุดสีแดงประปราย ภายในมีผลเล็ก ๆ รูปไข่ จำนวนมากก้านผลยาว ๑-๕ มม.

 ไกรชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาคพบทั้งในป่าและปลูกเพื่อให้ร่มเงาในต่างประเทศพบที่อินเดียจีนตอนใต้จนถึงภูมิภาคมาเลเซีย ในประเทศไทยนิยมปลูกเป็นไม้แคระ ออกดอกและเป็นผลระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ไกร
ชื่อวิทยาศาสตร์
Ficus concinna Miq.
ชื่อสกุล
Ficus
คำระบุชนิด
concinna
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Miquel, Friedrich Anton Wilhelm
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1811-1871)
ชื่ออื่น ๆ
กร่าง, ไทรกร่าง (กรุงเทพฯ), ไฮฮี (เพชรบูรณ์)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ.บุศบรรณ ณ สงขลา