ไก่แดงเป็นพืชอิงอาศัยตามต้นไม้ใหญ่ ต้นค่อนข้างแคระ สูง ๑๕-๖๐ ซม.
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปไข่ กว้าง ๕-๖ มม. ยาว ๑.๒-๑.๕ ซม. ปลายแหลม โคนมน ขอบมีขน ปลายขนมีต่อมแผ่นใบอวบน้ำ ไม่มีก้านใบ
ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกตามง่ามใบและใกล้ยอด ก้านดอกยาวประมาณ ๖ มม. กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ รูปแถบ ยาว ๓-๔ มม. มีขน กลีบดอก ๕ กลีบ โคนติดกันเป็นหลอดงอ ๆ และค่อนข้างหนา ยาวประมาณ ๑.๘ ซม. สีส้ม ปลายหลอดสีแดง มีขน แยกเป็นแฉกบน ๒ แฉก ตั้งตรง และแฉกล่าง ๓ แฉก พับกลับไปข้างหลัง เกสรเพศผู้ ๔ อัน สั้น ๒ อัน ยาว ๒ อัน ปลายอับเรณูจรดกันเป็นคู่ ๆ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปขอบขนาน มี ๑ ช่อง มีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียวยาว ยอดเกสรเพศเมียเล็ก เป็นรูปจาน
ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงกระบอก ยาวได้ถึง ๑๕ ซม. คล้ายฝัก แตกแล้วบิดเป็นเกลียว ภายในมีเมล็ดเล็ก ๆ จำนวนมาก เมล็ดรูปรี มีขนติดอยู่ที่ปลายทั้ง ๒ ข้าง ปลายละ ๑ เส้น
ไก่แดงมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขึ้นตามต้นก่อและต้นไม้อื่น ๆ ในป่าดิบเขา บนพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล นาทะเล ๑,๐๐๐-๑,๙๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่จีนตอนใต้ อินเดีย พม่า ลาว และมาเลเซีย.