ไก่แจ้

Aristolochia longeracemosa B.Hansen & Phuph.

ไม้เถา ใบเรียงสลับ รูปไข่แกมรูปหัวใจ ใบด้านล่างมีขนช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามง่ามใบ ดอกสีม่วงเข้ม โคนเป็นกระเปาะกลม หลอดโค้งเล็กน้อย ปลายหลอดยื่นยาวออกไปคล้ายลิ้น ผลแบบผลแห้งแตก

ไก่แจ้เป็นไม้เถา ลำต้นเป็นเหลี่ยมเล็กน้อย

 ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่แกมรูปหัวใจ กว้าง ๑๐.๕-๑๓ ซม. ยาว ๑๑-๑๔ ซม. ปลายใบเรียว ปลายสุดมนเป็นติ่งหนาม โคนเว้าลึกและเป็นติ่งเล็กน้อย ขอบเรียบ มีเส้นโคนใบ ๗-๙ เส้น แผ่นใบด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมีขนสั้นหนาแน่น ก้านใบยาว ๖-๑๑ ซม.

 ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามง่ามใบ ๑-๒ ช่อ แกนช่อดอกยาวประมาณ ๓.๕ ซม. มีดอกช่อละ ๖-๗ ดอก สีม่วงเข้ม แต่ละดอกมีใบประดับรูปไข่ อยู่ตรงข้าม ใบประดับกว้างประมาณ ๔ มม. ยาวประมาณ ๖ มม. ปลายเรียวแหลมก้านดอกยาวประมาณ ๓ มม. วงกลีบรวมติดกันเป็นหลอดโค้งเล็กน้อย โคนเป็นกระเปาะกลมหรือรูปไข่ กว้างและยาวประมาณ ๖ มม. หลอดยาวประมาณ ๖ มม. ปลายหลอดยื่นยาวออกไปคล้ายลิ้น ยาวประมาณ ๒ ซม. ปลายสุดหยักเว้าเล็กน้อย ภายในกระเปาะและหลอดมีขน เส้าเกสรกว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๒ มม. มีเกสรเพศผู้ ๖ อัน ติดอยู่รอบ ๆ เส้าเกสร อับเรณูเล็กกว่า ๑ มม. รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ ยาวประมาณ ๕ มม. มี ๖ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ยอดเกสรเพศเมียมีแฉกในแนวราบ ๖ แฉก

 ผลแบบผลแห้งแตก ผลอ่อนรูปกระบอง กว้างประมาณ ๑ ซม. ยาวประมาณ ๕ ซม.

 ไก่แจ้เป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย พบทางภาคเหนือบนที่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๑,๐๐๐ ม. (ยังไม่พบผลแก่).

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ไก่แจ้
ชื่อวิทยาศาสตร์
Aristolochia longeracemosa B.Hansen & Phuph.
ชื่อสกุล
Aristolochia
คำระบุชนิด
longeracemosa
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Hansen, Bertel
- Phuphathanaphong, Leena
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Hansen, Bertel (1932- )
- Phuphathanaphong, Leena (1936- )
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางลีนา ผู้พัฒนพงศ์