ตะไคร้หอมชนิดนี้เป็นไม้ล้มลุกหลายปีพวกหญ้า ขึ้นเป็นกอแน่น ลำต้นเทียมเกิดจากกาบใบเรียงสลับโอบซ้อนกันแน่น ตั้งตรง สูง ๒-๒.๕ ม. มีเหง้าใต้ดิน
ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปแถบ กว้างประมาณ ๑.๕ ซม. ยาวประมาณ ๑ ม. ปลายเรียวแหลม โคนสอบเรียว มักห้อยลงปรกดิน ขอบมีขนสาก แผ่นใบค่อนข้างนุ่ม ด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมีขนสาก ลิ้นใบเป็นเยื่อบาง ยาวประมาณ ๑ มม. เส้นใบขนานจากโคนสู่ปลาย กาบใบยาวประมาณ ๓๐ ซม. เรียงซ้อนเหลื่อมและมักแยกออกจากลำต้นเมื่อแก่ โคนกาบสีเขียวปนสีม่วงแดง
ช่อดอกแบบช่อแยกแขนงเชิงประกอบซ้อนขนาดใหญ่ ออกที่ยอด ยาวได้ถึง ๑ ม. ช่อแขนงย่อยแตกห่างกัน ช่อแขนงย่อยบนแกนกลางเรียงคดไปมา ช่อดอกค่อนข้างโปร่ง ช่อแขนงย่อยออกเป็นคู่ แต่ละคู่มีกาบสีน้ำตาลถึงสีน้ำตาลอมแดงรองรับ กาบรูปรี ยาว ๑.๕-๒ ซม. ช่อแขนงย่อยยาว ๑-๒ ซม. แต่ละช่อแขนงมีช่อดอกย่อยหลายช่อบนแกนกลาง เรียวเล็ก ยาวประมาณ ๒ มม. ขอบของแกนกลางมีขน ช่อดอกย่อยออกเป็นคู่แบบไร้ก้านและแบบมีก้าน ช่อดอก
ผลแบบผลแห้งเมล็ดติด รูปทรงกระบอกถึงรูปทรงค่อนข้างกลม ขนาดเล็กมาก เมล็ดรูปคล้ายผล
ตะไคร้หอมชนิดนี้เป็นไม้ปลูกในประเทศไทยทั่วทุกภาค มีถิ่นกำเนิดไม่แน่ชัด นำเข้ามาปลูกเพื่อสกัดน้ำมัน พบปลูกทั่วไปในประเทศเขตร้อนทั่วโลก
ตะไคร้หอมชนิดนี้มีลักษณะคล้ายกับตะไคร้หอม ๑ [Cymbopogon nardus (L.) Rendle var. confertiflorus (Steud.) Bor] ต่างกันที่ตะไคร้หอมชนิดนี้มีแผ่นใบที่นุ่มกว่า และใบจะปรกพื้นมากกว่า ช่อดอกมีขนาดใหญ่และโปร่งกว่า ช่อแขนงย่อยบนแกนกลางเรียงคดไปมา ส่วนรยางค์แข็งที่กาบล่างของดอกย่อยบนของช่อดอกย่อยแบบไร้ก้านจะสั้นกว่า คือมีขนาดยาวไม่เกิน ๕ มม.
ประโยชน์ ทั้งต้นใช้สกัดน้ำมันหอมระเหยผสมในสบู่และแชมพู น้ำมันตะไคร้หอมสามารถไล่แมลงและยุงได้ ตำรายาไทยใช้เหง้าเป็นยาบีบมดลูก ขับประจำเดือน ขับปัสสาวะ และขับระดูขาว (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร มหาวิทยาลัยมหิดล, ๒๕๕๓).