ตะค้านเล็กเป็นไม้เลื้อยมีเนื้อไม้ มีข้อโป่งพองมีรากยึดเกาะออกจากข้อ ปลายยอดเกลี้ยง
ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปรี รูปรีแกมรูปขอบขนานรูปไข่ หรือรูปหัวใจ กว้าง ๖-๑๔ ซม. ยาว ๑๑-๒๕ ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนรูปติ่งหู เว้าหรือตัด ขอบเรียบ เส้นแขนงใบข้างละ ๓-๕ เส้น แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง เกลี้ยง หูใบรูปรีแกมรูปขอบขนาน หุ้มยอดอ่อนและหลุดร่วงเมื่อใบอ่อนคลี่ ก้านใบยาว ๒-๘ ซม. เกลี้ยง
ดอกแยกเพศต่างต้น ช่อดอกคล้ายช่อหางกระรอก ออกตรงข้ามใบที่ปลายยอด ออกเดี่ยวหรือเป็นกระจุก ๒-๓ ช่อ รูปทรงกระบอก สีขาว ห้อยลงหรือกึ่งห้อย ก้านช่อดอกยาว ๑-๒ ซม. มีขน ไม่มีทั้งกลีบเลี้ยงและกลีบดอก ช่อดอกเพศผู้กว้าง ๒-๓ มม. ยาว ๓-๕ ซม. ดอกเพศผู้มีเกสรเพศผู้ ๓ เกสร ก้านชูอับเรณูยาว ๐.๓-๐.๕ มม. อับเรณูยาว ๐.๕-๐.๗ มม. มี ๒ พู แตกตามยาว ช่อดอกเพศเมียกว้าง ๓-๔ มม. ยาว ๓-๕ ซม. แกนช่อเกลี้ยง ใบประดับรูปขอบขนาน ดอกเรียงห่าง ๆ บนแกน ใบประดับย่อยรูปไข่ มี ๓ ใบต่อดอก มีขนยาวแทรกอยู่ในดอก ดอกเพศเมียมีรังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงรี มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด ยอดเกสรเพศเมียรูปดาว มี ๓-๕ แฉก
ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง ช่อผลยาว ๒-๗ ซม. กว้าง ๑.๘-๒.๖ ซม. รูปทรงกระบอก ห้อยลงหรือกึ่งห้อยก้านช่อผลยาว ๓-๗ ซม. แต่ละผลรูปทรงค่อนข้างกลมเส้นผ่านศูนย์กลาง ๔-๗ มม. อัดแน่นหรือเรียงห่าง ๆ บนแกน สุกสีส้มแดง ผลแห้งมีรอยย่นคล้ายตาข่าย เมล็ดรูปคล้ายผล
ตะค้านเล็กมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค พบในป่าแทบทุกประเภท ที่สูงใกล้ระดับทะเลปานกลางถึงประมาณ ๒,๕๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนมีนาคมถึงเมษายน ในต่างประเทศพบที่อินเดีย เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย.