จอกหิน ๒

Paraboea acaulis (Barnett) C. Puglisi

ไม้ล้มลุกหลายปี ลำต้นส่วนบนมีใบซ้อนกันแน่นเป็นกระจุก ส่วนล่างมีเนื้อไม้สีน้ำตาลอมเทา ผิวย่นและแข็ง ขึ้นแทรกอยู่ในซอกหินลักษณะคล้ายรากใบเดี่ยว เรียงเวียนเป็นกระจุกแบบดอกกุหลาบซ้อนรูปใบหอก มีขนสีขาวคล้ายใยแมงมุม ดอกมักเป็นดอกเดี่ยว ออกตามซอกใบ สีม่วงอมชมพู ผลแบบผลแห้งแตก บิดเป็นเกลียวห่าง เมล็ดขนาดเล็ก มีจำนวนมากรูปคล้ายกระสวย ผิวย่นและขรุขระ สีน้ำตาลเข้ม

จอกหินชนิดนี้เป็นไม้ล้มลุกหลายปี สูงไม่เกิน ๓๐ ซม. ลำต้นส่วนบนมีใบซ้อนกันแน่นเป็นกระจุก ส่วนล่างมีเนื้อไม้สีน้ำตาลอมเทา ผิวย่นและแข็ง ขึ้นแทรกอยู่ในซอกหินลักษณะคล้ายราก

 ใบเดี่ยว เรียงเวียนเป็นกระจุกแบบดอกกุหลาบซ้อน รูปใบหอก กว้าง ๑.๕-๒ ซม. ยาว ๕-๘ ซม. ปลายมน โคนสอบและแผ่เป็นปีกกว้างถึงก้านใบ ขอบหยักมนไม่เท่ากัน แผ่นใบด้านบนสีเขียวเข้ม มีขนต่อมหนาแน่น และมีขนสีขาวคล้ายใยแมงมุม ด้านล่างมีขนสีขาวคล้ายใยแมงมุมหนาแน่น เส้นกลางใบมีขนสีน้ำตาล เส้นแขนงใบข้างละ ๖-๙ เส้น เห็นชัดทางด้านล่าง

 ดอกมักเป็นดอกเดี่ยว ออกตามซอกใบ ก้านดอกมีขนสีน้ำตาลอมเหลืองหม่นหนาแน่น ใบประดับ ๒ ใบ ติดอยู่ที่ปลายก้าน รูปใบหอกกลับ กว้างประมาณ ๘ มม. ยาวประมาณ ๑.๕ ซม. โคนสอบแคบ ก้านสั้นมีขนสีน้ำตาลอมเหลืองหม่นหนาแน่น กลีบเลี้ยงโคน


เชื่อมติดกันเล็กน้อย มีขนคล้ายใยแมงมุมสีขาว ปลายแยกเป็น ๒ ส่วน ส่วนบนเป็นแฉกเดี่ยว รูปคล้ายสามเหลี่ยม กว้างและยาวเท่ากัน ประมาณ ๘ มม. ที่ปลายแยกเป็น ๓ แฉกตื้น ส่วนล่างมี ๒ แฉก รูปสามเหลี่ยมแคบ กว้างประมาณ ๔ มม. ยาวประมาณ ๗ มม. กลีบดอกสีม่วงอมชมพู รูประฆังปากกว้าง โคนเชื่อมติดกัน กว้าง ๓-๖ มม. ยาว ๑.๒-๑.๕ ซม. หลอดด้านบนสั้นกว่าด้านล่าง ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปเกือบกลม กว้างและยาวประมาณ ๕ มม. เกลี้ยง เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ติดอยู่ในหลอดกลีบดอก เกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์ ๒ เกสร ยาวประมาณ ๔ มม. ก้านชูอับเรณูรูปแถบสีขาว บิดงอตรงกลาง อับเรณูสีเหลือง ยาวประมาณ ๒.๕ มม. พูอับเรณูโคนถ่างออกจากกัน อับเรณูแต่ละอับชิดกันที่ปลายเล็กน้อย มีขนสั้นนุ่ม เกสรเพศผู้ที่เหลืออีก ๓ เกสร เป็นหมัน ติดใกล้โคนหลอดกลีบดอกลักษณะคล้ายก้านชูอับเรณูขนาดเล็ก สั้น สีขาว อาจมีอับเรณูที่ลดรูปขนาดเล็กมากติดอยู่ จานฐานดอกเป็นรูปวงแหวน สูงประมาณ ๑ มม. เป็นคลื่นเล็กน้อย รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ยาวประมาณ ๓ มม. เกลี้ยง ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวประมาณ ๑.๒ มม. ยอดเกสรเพศเมียรูปลิ้น ยาว ๑.๕-๒ มม.

 ผลแบบผลแห้งแตก กว้างประมาณ ๕ มม. ยาวประมาณ ๒ ซม. บิดเป็นเกลียวห่าง เกลี้ยง กลีบเลี้ยงติดทนขยายขนาดหุ้มโคนผล เมล็ดขนาดเล็ก มีจำนวนมาก รูปคล้ายกระสวย ผิวย่นและขรุขระ สีน้ำตาลเข้ม

 จอกหินชนิดนี้เป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทยมีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคเหนือ พบเฉพาะตามหน้าผาหินปูนที่สูงชันและเปิดโล่ง ที่สูงจากระดับทะเล ๑,๖๐๐-๒,๒๐๐ ม. ออกดอกเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน เป็นผลเดือนกันยายนถึงธันวาคม.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
จอกหิน ๒
ชื่อวิทยาศาสตร์
Paraboea acaulis (Barnett) C. Puglisi
ชื่อสกุล
Paraboea
คำระบุชนิด
acaulis
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Barnett, Euphemia Cowan
- Puglisi, Carmen
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Barnett, Euphemia Cowan (1890-1970)
- Puglisi, Carmen (fl. 2011)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ปราโมทย์ ไตรบุญ