โกฐสอเป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปี สูง ๑-๒.๕ ม. รากอวบใหญ่ เนื้อแข็ง รูปกรวยยาว เส้นผ่านศูนย์กลาง ๓-๕ ซม. ยาวได้ถึง ๓๐ ซม. หรือมากกว่า อาจแยกแขนงที่ปลาย มี กลิ่นหอมฉุน ลำต้นตั้งตรง อวบสั้น โคนต้นเส้นผ่านศูนย์กลาง ๒-๕ ซม. มีสีม่วงแต้มเล็กน้อย
ใบประกอบแบบขนนก ๒-๓ ชั้น เรียงเวียน รูปไข่แกมรูปสามเหลี่ยม กว้างได้ถึง ๔๐ ซม. ยาวได้ถึง ๕๐ ซม. ก้านใบยาว โคนแผ่เป็นกาบ ใบย่อยไม่มีก้าน รูปรีแคบถึงรูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๑-๔ ซม. ยาว ๔-๑๐ ซม. ปลายแหลม โคนเป็นครีบเล็กน้อย ขอบจักฟันเลื่อยห่าง ๆ ใบตอนบนลดรูปเป็นกาบ
ช่อดอกแบบช่อซี่ร่มเชิงประกอบ ออกตามง่ามใบและปลายกิ่ง เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑๐-๓๐ ซม. สีขาว ใบประดับมีไม่เกิน ๒ ใบ คล้ายกาบหุ้มช่อดอกเมื่อยังอ่อนอยู่ มีช่อย่อย ๑๘-๔๐(-๗๐) ช่อ มีขนสั้น ๆ ใบประดับย่อยรูปใบหอกแกมรูปแถบ กลีบเลี้ยงลดรูป กลีบดอก ๕ กลีบ รูปไข่กลับขนาดเล็ก ปลายเว้าตื้น เกสรเพศผู้ ๕ อัน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด โคนก้านยอดเกสรเพศเมียแป้น
ผลแบบผลแห้งแยก รูปรีกว้าง ด้านล่างแบนราบ กว้าง ๔-๖ ซม. ยาว ๔-๗ ซม. สันด้านล่างหนากว่าร่อง สันด้านข้างแผ่เป็นปีกกว้าง ตามร่องมีท่อน้ำมัน
โกฐสอมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลีและรัสเซีย (ไซบีเรีย) พบขึ้นตามภูเขาสูงและชื้น ในหุบเขา ริมน้ำ และชายป่า ออกดอกระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคมเป็นผลระหว่างเดือนสิงหาคมถึงกันยายน พันธุ์ปลูกที่นิยมใช้กันมากมีหลายพันธุ์ เช่น A. dahurica cv. Qibaizhi, A. dahurica cv. Yubaizhi, A. dahurica cv. Hangbaizhi และ A. dahurica cv. Chuanbaizhi
รากแห้งกลิ่นหอมฉุน รสขมมัน แพทย์จีนใช้โกฐสอเป็นยาแก้ปวดหัว โดยเฉพาะอาการปวดบริเวณหน้าผาก นอกจากนั้นยังใช้แก้คัดจมูกเนื่องจากไข้หวัด แก้โรคโพรงจมูกอักเสบ แก้ปวดฟัน และแก้ระดูขาว
ตำราสรรพคุณยาโบราณของไทยว่าโกฐสอมีกลิ่นหอมรสขมมัน ใช้แก้ไข้ แก้หืด แก้ไอ ทำหัวใจให้ชุ่มชื่น โกฐนี้เป็นโกฐชนิดหนึ่งในพิกัดโกฐทั้ง ๕ โกฐทั้ง ๗ และโกฐทั้ง ๙
โกฐสอมีองค์ประกอบเคมีเป็นสารกลุ่ม coumarins ประเภท furocoumarins หลายชนิด เช่น byak-angelicin, byak-angelicol, imperatorin, isoimperatorin, oxypeucedanin, phellopterin นอกจากนั้น ยังมีสาร marmecin, และ Scopoletin