โกฐน้ำเต้า

Rheum palmatum L.

ชื่ออื่น ๆ
จางเยี่ยต้าหวาง (จีนสําเนียงแมนดาริน)
ไม้ล้มลุกอายุหลายปี ราก เหง้า และลำต้นอ้วนสั้น ใบเรียงเวียน ค่อนข้างกลม หูใบเป็นปลอกขนาดใหญ่ ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามง่ามใบและปลายกิ่ง ดอกสีแดงอมม่วง ผลแบบผลแห้งเมล็ดล่อน รูปขอบขนานแกมรี มีสามมุมแหลมเป็นปีก

โกฐน้ำเต้าชนิดนี้เป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปี สูง ๑.๕-๒ ม. รากเหง้าและลำต้นอ้วนสั้น ลำต้นกลวง เปลือกเป็นร่องตามยาว มีขนสีขาว ข้อพองออก เกือบเรียบหรือมีขนคาย

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน ที่โคนต้นอาจมีน้อย หนาแน่น หรือออกเป็นกระจุก ใบค่อนข้างกลม ขนาดใหญ่ ยาว ๔๐-๖๐ ซม. ไม่เท่ากับความกว้าง โคนรูปหัวใจ ขอบหยักแบบนิ้วมือหรือแบบขนนก ปลายแฉกเรียวแหลม มีขนสั้นนุ่มทางด้านล่างด้านบนมีขนสีขาวถึงมีปุ่มเล็ก ๆ มีเส้นโคนใบ ๓-๕ เส้น ใบที่อยู่เหนือโคนต้นขึ้นมาขนาดค่อย ๆ เล็กลง ก้านใบที่โคนต้นคล้ายทรงกระบอก ยาวเกือบเท่าแผ่นใบ มีปุ่มเล็ก ๆ อยู่หนาแน่น หูใบเป็นปลอกขนาดใหญ่ ยาวได้ถึง ๑๕ ซม. ด้านนอกมีขนหนาแน่น

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามง่ามใบและปลายกิ่งแขนงชิดกัน มีขนสั้นนุ่มหนาแน่น ก้านดอกเรียวยาว ๒-๒.๕ ซม. ดอกสีแดงอมม่วง มีน้อยมากที่จะมีสีขาวอมเหลือง กลีบรวม ๖ กลีบ วงนอก ๓ กลีบ วงใน ๓ กลีบ รูปรีถึงค่อนข้างกลมขนาดเล็กกว่า ๒ มม. เกสรเพศผู้ ๙ อัน สั้นกว่ากลีบรวมรังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปคล้ายสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียพับลงเล็กน้อยยอดเกสรเพศเมียมี ๓ แฉก แฉกมักพองกลม

 ผลแบบผลแห้งเมล็ดล่อน รูปขอบขนานแกมรี กว้าง ๗-๘ มม. ยาว ๘-๙ มม. ปลายทั้ง ๒ ข้างเว้าบุ๋ม มีสามมุมแหลมเป็นปีก กว้างประมาณ ๓ มม. มีเส้นตามยาวใกล้ขอบเมล็ดรูปไข่กว้าง สีน้ำตาลดำ

 โกฐน้ำเต้าชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศจีน พบที่มณฑลกานซู หูเป่ย์ มองโกเลียใน ชิงไห่ ส่านซี ชื่อชวน (เสฉวน) ซีจ้าง (ธิเบต) และหยุนหนาน (ยูนนาน) ขึ้นตามเนินเขาหรือในหุบเขา ที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๑,๕๐๐-๔,๐๐๐ ม. เป็นพืชปลูกเพื่อใช้ประโยชน์ทางยาในประเทศจีนและรัสเซียออกดอกเดือนมิถุนายน เป็นผลเดือนสิงหาคม

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
โกฐน้ำเต้า
ชื่อวิทยาศาสตร์
Rheum palmatum L.
ชื่อสกุล
Rheum
คำระบุชนิด
palmatum
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl von
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1707-1778)
ชื่ออื่น ๆ
จางเยี่ยต้าหวาง (จีนสําเนียงแมนดาริน)
ผู้เขียนคำอธิบาย
-