โกฐชฎามังษีเป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปี สูง ๑๐-๖๐ ซม. ลำต้นตั้งตรง ตอนบนมีขนนุ่ม ตอนล่างอาจเกลี้ยง เหง้ายาวแข็งเหมือนเนื้อไม้ ปกคลุมด้วยเส้นใยที่เป็นส่วนโคนใบ มีกลิ่นฉุน
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม ใบใกล้โคนต้นรูปซ้อน กว้างประมาณ ๒.๕ ซม. ยาว ๑๕-๒๐ ซม. โคนใบสอบแคบคล้ายก้านใบ ขอบเรียบหรือมีขนนุ่มเล็กน้อย มีเส้นโคนใบ ใบบนต้นมี ๑-๒ คู่ ยาว ๒.๕-๗.๕ ซม. รูปขอบขนานหรือรูปไข่กลับ ปลายแหลม โคนมน ไม่มีก้านใบ
ช่อดอกแบบช่อกระจุก ก้านช่อดอกโดดยาว ๑๐-๒๐ ชม. ประกอบด้วยช่อกระจุกย่อย ๑-๕ ช่อ ใบประดับมักมีขนดอกสีชมพูอมม่วง กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น ๕ แฉก กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดแกมรูประฆัง ยาวประมาณ ๖ มม. ปลายแยกเป็นแฉกแผ่ออก ๕ แฉก ด้านในอาจมีขน เกสรเพศผู้ ๔ อัน ติดทางด้านในของหลอดรังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๕ ช่อง แต่ฝ่อไป ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด
ผลแบบผลแห้งเมล็ดล่อน รูปไข่กลับ แบน ปลายผลมีกลีบเลี้ยงคล้ายซี่ฟัน ติดทน มีขนสีขาว มี ๑ เมล็ด รูปไข่ แบน
โกฐชฎามังษีมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศอินเดีย เนปาล ภูฎาน และทิเบต บริเวณเทือกเขาหิมาลัย ที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๓,๐๐๐ ม. ขึ้นไป ออกดอกระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม เป็นผลระหว่างเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม
เหง้าและรากของพืชชนิดนี้ใช้มากในการแพทย์ของอินเดีย มีกลิ่นหอมฉุน รสขม มีสรรพคุณกระตุ้นและลดการเกร็ง ใช้บำบัดโรคลมบ้าหมู โรคฮิสทีเรีย โรคลมชัก แก้แผลพุพอง ปวดบวมที่ผิวหนัง โรคต่าง ๆ ที่เกิดในศีรษะ รวมทั้งโรคตา
เครื่องยานี้มีกลิ่นหอมฉุน ตำราสรรพคุณยาโบราณของไทยว่าใช้เป็นยาขับหนอง ขับพยาธิ แก้โลหิตเป็นพิษ โกฐนี้อยู่ในพิกัดโกฐทั้ง ๙
องค์ประกอบเคมีในโกฐชฎามังษีเป็นสารกลุ่มต่าง ๆ จำนวนมาก เช่น angelicin, jatamansic acid, jatamansin, jatamansinol, jatamansone, tamol A, jatamol B, patchouli alcohol