จอกหินชนิดนี้เป็นไม้ล้มลุกหลายปี ลำต้นค่อนข้างสั้น ฉ่ำน้ำ รากเป็นกระจุกฝอย
ใบเดี่ยว เรียงเวียนถี่เป็นกระจุกคล้ายดอกกุหลาบซ้อน รูปไข่กลับ รูปขอบขนาน หรือคล้ายรูปช้อน กว้าง ๑-๑.๗ ซม. ยาว ๒-๓ ซม. ปลายมนหรือแหลม โคนสอบแคบ ขอบเรียบหรือเว้าเป็นคลื่น แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ มีขนยาวสีขาวคล้ายใยแมงมุมหนาแน่น โดยเฉพาะแผ่นใบด้านล่างและใบใกล้ยอดเส้นแขนงใบข้างละ ๔-๖ เส้น เส้นใบย่อยแบบร่างแหเห็นไม่ชัด ก้านใบสั้นมาก
ช่อดอกแบบช่อกระจุกซ้อน มี ๑-๕ ช่อ ออกตามซอกใบใกล้ปลายยอด แต่ละช่อมี ๑-๕ ดอก ก้านช่อดอกเรียว ยาว ๓-๗ ซม. มักมีขนต่อม ใบประดับและใบประดับย่อยรูปแถบแคบ มีขนาดเล็ก ก้านดอกเรียวยาวประมาณ ๑.๕ ซม. กลีบเลี้ยงคล้ายรูปดาว โคนเชื่อมติดกันเล็กน้อย ปลายแยกเป็น ๕ แฉก สีเขียว รูปขอบขนานแคบ กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๒.๕ มม.กลีบดอกสีขาวอมชมพูหรือสีม่วงอ่อน รูปคล้ายระฆังตื้น โคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น ๕ แฉก แยกเป็น ๒ ซีก ซีกบน ๒ แฉก รูปเกือบกลม ซีกล่าง ๓ แฉก รูปไข่กลับกว้างหรือคล้ายรูปครึ่งวงกลม กว้างประมาณ ๖ มม. ยาว ๖-๘ มม. ปลายมนกลมหรือเว้าตื้น แฉกซีกบนมีขนาดเล็กกว่าแฉกซีกล่าง เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ที่สมบูรณ์ ๒ เกสร อับเรณูสีเหลือง ก้านชูอับเรณูสีขาวรูปแถบ บิดงอตรงกลาง ปลายอับเรณูของแต่ละอับติดกัน เกสรเพศผู้ที่เหลืออีก ๓ เกสร ลดรูปเป็นติ่งขนาดเล็ก อยู่ใกล้โคนหลอดกลีบดอก ก้านชูอับเรณูยาว ๘-๙ มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๓ มม. มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลขนาดเล็กจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียสีเขียวอ่อน ยาวประมาณ ๓ มม. ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม
ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงกระบอกแคบ กว้าง ๒-๓ มม. ยาว ๑-๑.๕ มม. สีน้ำตาลอ่อน เมื่อแก่บิดเป็นเกลียว มีกลีบเลี้ยงและก้านยอดเกสรเพศเมียติดทนเมล็ดเล็ก รูปกระสวย มีจำนวนมาก
จอกหินชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ พบตามพื้นที่หินปูนหรือหน้าผาหินปูนที่ชื้นและค่อนข้างร่ม ที่สูงจากระดับทะเล ๖๐๐-๑,๔๐๐ ม. ออกดอกเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคมเป็นผลเดือนสิงหาคมถึงธันวาคม ในต่างประเทศพบที่เมียนมา.