โกฐจุฬาลำพา

Artemisia annua L.

ชื่ออื่น ๆ
โกฐจุฬา, โกฐจุฬาลำพาจีน (ทั่วไป); ชิงฮาว (จีน-สําเนียงแมนดาริน); แซเฮา (จีน-สําเนียงแต้จิ๋ว)
ไม้ล้มลุกอายุปีเดียว ทั้งต้นมีกลิ่นแรง แตกกิ่งมากใกล้โคนต้น ใบเรียงเวียน ขอบใบหยักลึก ช่อดอกแบบช่อแยกแขนงรูปพีระมิดกว้าง ช่อย่อยแบบกระจุกแน่น กลม ดอกสีเหลืองถึงเหลืองเข้ม ผลแบบผลแห้งเมล็ดล่อน รูปไข่แกมรูปรี

โกฐจุฬาลำพาเป็นไม้ล้มลุกอายุปีเดียว สูง ๐.๗-๑.๖ (-๒) ม. แตกกิ่งมาก ทั้งต้นมีกลิ่นแรง มีขนประปราย ร่วงง่าย

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน มีต่อมโปร่งแสง ใบบริเวณโคนต้นรูปไข่หรือรูปสามเหลี่ยมแกมรูปไข่ กว้าง ๒-๖ ซม. ยาว ๓-๗ ซม. ขอบใบหยักลึกแบบขนนก ๓ หรือ ๔ ชั้น เป็น ๕-๘ (-๑๐) คู่ แฉกใบจักฟันเลื่อยลึกรูปสามเหลี่ยม กว้างและยาวประมาณ ๑ มม. เส้นกลางใบเด่นชัดทางด้านบน แกนกลางใบมีปีกแคบ อาจจักฟันเลื่อยเล็กน้อยหรือเรียบ ใบบริเวณกลางต้นหยักลึกแบบขนนก ๒ หรือ ๓ ชั้น ใบใกล้ยอดรวมทั้งใบประดับหยักลึกแบบขนนก ๑ หรือ ๒ ชั้น ก้านใบสั้นมาก

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง รูปพีระมิดกว้าง ช่อย่อยแบบ ช่อกระจุกแน่น กลม มีจำนวนมาก สีเหลืองถึงเหลืองเข้ม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๒-๓ มม. ก้านช่อย่อยสั้น ดอกไม่มีแพปพัส วงนอกเป็นดอกเพศเมีย มี ๑๐-๑๘ ดอก โคนกลีบ


เชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายจักเป็นซี่ฟัน ๒-๔ ซี่ ยอดเกสรเพศเมียแหลม ดอกย่อยตรงกลางเป็นดอกสมบูรณ์เพศ มี ๑๐-๓๐ ดอก โคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายจักซี่ฟัน ๕ ซี่ เกสรเพศผู้ ๕ อัน อับเรณูเชื่อมติดกัน แต่ละอันมีรยางค์ด้านบน ๑ อัน รูปสามเหลี่ยมปลายแหลม และมีรยางค์ปลายมนที่โคน ๒ อัน

 ผลแบบผลแห้งเมล็ดล่อน รูปไข่แกมรี ยาวประมาณ ๑ มม.

 โกฐจุฬาลำพามีเขตการกระจายพันธุ์ในทวีปอเมริกาเหนือ ทวีปยุโรป ภาคเหนือของทวีปแอฟริกา และทวีปเอเชีย ในประเทศจีนมักพบขึ้นทั่วไปตามเนินเขา ข้างทาง ที่รกร้าง หรือตามชายป่า ที่สูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ ๒๐๐-๓,๖๕๐ ม. มีผู้นำมาทดลองปลูกในประเทศไทยและพบว่าขึ้นได้ดี ออกดอกและเป็นผลตั้งแต่เดือนสิงหาคมถึงพฤศจิกายน

 โกฐจุฬาลำพาเป็นชื่อที่แพทย์แผนไทยเรียกใบและเรือนช่อดอกแห้งของพืชชนิดนี้ ตำราสรรพคุณยาโบราณของไทยว่ามีสรรพคุณแก้ไข้เจลียง(ไข้จับวันเว้นวัน-เป็นไข้จับสั่นประเภทหนึ่ง) แก้ไข้ ลดเสมหะ แก้หืด แก้ไอ ใช้เป็นยาขับเหงื่อ โกฐจุฬาลำพาจัดอยู่ในพิกัดยาไทยที่เรียกโกฐทั้ง ๕ โกฐทั้ง ๗ และโกฐทั้ง ๙

 แพทย์แผนโบราณของจีนใช้ส่วนที่อยู่เหนือดินของพืช ชนิดนี้ โดยจะเก็บในฤดูใบไม้ร่วงเมื่อต้นมีดอก เอาส่วนต้นและกิ่งแก่ออก แล้วผึ่งให้แห้งในที่ร่ม ใช้แก้ไข้อันเกิดจากความร้อนในฤดูร้อน แก้ไข้ต่ำ ๆ ที่ไม่มีเหงื่อ แก้ไข้อันเนื่องจากวัณโรคและแก้ไข้จับสั่น ขนาดที่ใช้ ๔.๕-๙ กรัม เป็นเครื่องยาที่รับรองในตำรายาแห่งประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ฉบับคริสต์ศักราช ๒๐๐๐ ในชื่อเครื่องยา Herba Artemisiae Annuae

 โกฐจุฬาลำพามีองค์ประกอบเคมีหลายชนิด แต่ที่สําคัญคือ ชิงฮาวชู (Qinghaosu) หรือ arteannuin หรือ artemisinin อันเป็นสารกลุ่ม sesquiterpene lactone ชนิด หนึ่ง สารนี้แสดงฤทธิ์ต้านเชื้อไข้จับสั่นชนิด Plasmodium falciparum และชนิด Plasmodium vivax โดยเฉพาะสายพันธุ์ที่ดื้อยา ปัจจุบันได้นำสารชนิดนี้และอนุพันธุ์กึ่งเคมีสังเคราะห์มาใช้เป็นยาแก้ไข้จับสั่นในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน นอกจากนั้น ยังพบว่าเครื่องยาชนิดนี้ ยังมีสารกลุ่มฟลาโวนอยด์หลายชนิดซึ่งช่วยเสริมฤทธิ์ต้านเชื้อไข้จับสั่นกับสาร artemisinin เช่น casticin, cirsilineol, chrysoplenol-D, chrysoplenetin

 พืชสกุล Artemisia หลายชนิดที่พบในประเทศไทย เช่น A. pallens Wall. ex Besser, A. vulgaris L. var. indica Maxim. อาจมีผู้เรียกด้วยสําคัญผิดเป็นโกฐจุฬาลำพาโกฐจุฬาลำพาจีน โกฐจุฬาลำพาไทย โกฐจุฬา โกฐจุฬาจีนหรือโกฐจุฬาไทย อย่างไรก็ตาม พืชเหล่านี้ล้วนมิใช่พืชที่ให้เครื่องยาที่ใช้ในยาไทยซึ่งแพทย์โบราณไทยเรียก “โกฐจุฬาลำพา”

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
โกฐจุฬาลำพา
ชื่อวิทยาศาสตร์
Artemisia annua L.
ชื่อสกุล
Artemisia
คำระบุชนิด
annua
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl von
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1707-1778)
ชื่ออื่น ๆ
โกฐจุฬา, โกฐจุฬาลำพาจีน (ทั่วไป); ชิงฮาว (จีน-สําเนียงแมนดาริน); แซเฮา (จีน-สําเนียงแต้จิ๋ว)
ผู้เขียนคำอธิบาย
-