โกฐเขมา

Atractylodes lancea (Thunb.) DC.

ชื่ออื่น ๆ
โกฐหอม, ซังตุ๊ก (จีน-สําเนียงแต้จิ๋ว); ชางจู๋ (จีน-สําเนียงแมนดาริน)
ไม้ล้มลุกอายุหลายปี เหง้าทอดนอนหรือตั้งขึ้น มีกลิ่นเฉพาะ ใบเรียงเวียนขอบใบเรียบหรือหยักแบบขนนกตื้นถึงลึกมาก ช่อดอกแบบช่อกระจุกแน่น ดอกสีขาว ผลแบบผลแห้งเมล็ดล่อน รูปไข่กลับ

โกฐเขมาเป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปี สูง (๑๕-)๓๐-๑๐๐ ชม. เหง้าทอดนอนหรือตั้งขึ้น มีรากพิเศษขนาดเท่า ๆ กัน จำนวนมาก ลำต้นขึ้นเดี่ยวหรือเป็นกระจุก ไม่แตกกิ่งหรือแตกกิ่งเฉพาะตอนบน มีขนคล้ายใยแมงมุมเล็กน้อยหรือเกลี้ยง

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ มีหลายรูปแบบ ขอบมีขนครุยหรือหยักซี่ฟัน ใบใกล้โคนต้นรูปไข่ กว้าง ๕-๘ ซม. ยาว ๘-๑๒ ซม. ขอบเรียบหรือหยักแบบขนนก ๓-๕(-๙) แฉก แฉกข้างรูปรีหรือรูปไข่กลับแกมรี แฉกปลายรูปกลม รูปไข่กลับ รูปไข่ หรือรูปรี ก้านใบสั้นหรืออาจยาวได้ถึง ๓.๕ ซม. ใบบริเวณกลางต้นรูปไข่กลับ รูปไข่กลับแกมรี รูปรีแคบหรือรูปใบหอกกลับ โคนรูปลิ่มแกมสอบเรียว ขอบเรียบหรือหยักเป็นรูปสามเหลี่ยมปลายแหลม ๑-๒ แฉกใกล้โคนใบก้านใบยาว ๐.๕-๒.๕ ซม. ใบบริเวณปลายต้นอาจมีขอบหยักแหลม ๑-๒ แฉก

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกแน่น ออกเดี่ยวหรือหลายช่อ ตามปลายกิ่ง วงใบประดับซ้อนกันแน่น รูประฆัง เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑-๑.๕ ซม. ใบประดับมี ๕-๗ แถว ขอบมีขนคล้ายใยแมงมุมเล็กน้อย ปลายมน ใบประดับวงนอกรูปไข่ถึงรูปไข่แกมรูปใบหอก กว้าง ๒-๓ มม. ยาว ๓-๖ มม. ใบประดับกลางรูปไข่ถึงรูปไข่แกมรี หรือรูปรี กว้าง ๓-๔ มม. ยาว ๐.๖-๑ ซม. ใบประดับวงในรูปรีถึงรูปแถบ กว้าง ๒-๓ มม. ยาว ๑.๑-๑.๒ ซม. ปลายใบประดับในสุดอาจมีสีแดง ด้านบนของฐานดอกแบน มีเกล็ดหนาแน่น ดอกสีขาว เป็นดอกสมบูรณ์เพศหรือดอกเพศเมียที่มีเกสรเพศผู้ลดรูป กลีบเลี้ยงเป็นขน สีน้ำตาลถึงสีขาวหม่น มี ๑ แถว โคนติดกันเป็นวง ยาว ๗-๘ มม. กลีบดอกยาวประมาณ ๙ มม. ปลายเป็น ๕ หยัก เกสรเพศผู้ ๕ อัน ติดที่หลอดกลีบดอก รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้น ยอดเกสรเพศเมีย เป็นสามเหลี่ยม มีขนนุ่ม เกสรเพศเมียแยกเป็น ๒ แฉก

 ผลแบบผลแห้งเมล็ดล่อน รูปไข่กลับ

 โกฐเขมามีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลี และรัสเซีย ขึ้นตามทุ่งหญ้า ในป่า และตามซอกหิน ที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๗๐๐-๒,๕๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงตุลาคม

 เหง้าของพืชชนิดนี้จะเก็บกันในฤดูใบไม้ร่วงและฤดูใบไม้ผล ล้างให้สะอาด ตัดเอารากแขนงออก แล้วตากแดดให้แห้งเหง้าแห้งที่ได้เรียก โกฐเขมา เป็นก้อนค่อนข้างกลมหรือยาวหรืออาจมีแง่งยาวแยกออกไป ๓-๑๐ ซม. เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑-๒ ซม. ผิวเป็นปุ่มปม สีน้ำตาลอมเทา (จึงได้ชื่อว่า “โกฐเขมา เพราะคำ เขมา เป็นภาษาเขมร แปลว่า ดำ) มีรอยย่น และ


รอยบิดตามขวาง มีกลิ่นหอม (บางตำราจึงเรียก “โกฐหอม”) เนื้อแน่น เมื่อฝานหัวออกใหม่ ๆ จะมีสีขาวขุ่นที่ด้านใน ผิวสีเหลือง เนื้อในมีแต้มสีแสดของชันน้ำมันอยู่ประปรายทั่วไปส่วนนี้เมื่อละลายด้วยสุราอย่างแรงจะให้ยาดองสีเหลือง

 ตำราสรรพคุณยาโบราณของไทยว่ามีกลิ่นหอม รสร้อนใช้เป็นยาบำรุงธาตุ เป็นยาบำรุง ใช้แก้โรคเข้าข้อ เป็นยาเจริญอาหาร ยาขับปัสสาวะ แก้โรคในปากในคอ ระงับอาการหอบแก้หวัดคัดจมูก แก้ไข้ แก้ลมตะกัง แก้เหงื่อออกมาก แก้ไข้รากสาดเรื้อรัง จัดเป็นโกฐชนิดหนึ่งในพิกัดยาไทยที่เรียก โกฐทั้ง ๕ โกฐทั้ง ๗ และโกฐทั้ง ๙

 แพทย์แผนโบราณของจีนนิยมใช้โกฐเขมาเข้าในยาจีนหลายขนาน ตำรายาจีนว่าใช้แก้อาการท้องร่วงท้องเสีย แก้อาการบวม โดยเฉพาะอาการบวมที่ขา แก้ปวดข้อเนื่องจากโรคข้ออักเสบ แก้หวัด และแก้โรคตาบอดตอนกลางคืน ขนาดที่ใช้ ๓-๙ กรัม เครื่องยานี้รับรองในตำรายาแห่งประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ฉบับคริสต์ศักราช ๒๐๐๐ ในชื่อ Rhizoma Atractylodis

 โกฐเขมามีน้ำมันระเหยง่ายร้อยละ ๓.๕-๕.๖ น้ำมันระเหยง่ายนี้มีสารสําคัญคือ atractylodin, β-eudesmol hinesol, elemol และ atractylon นอกจากนั้น ยังมีวิตามินเอและวิตามินดีในปริมาณสูง

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
โกฐเขมา
ชื่อวิทยาศาสตร์
Atractylodes lancea (Thunb.) DC.
ชื่อสกุล
Atractylodes
คำระบุชนิด
lancea
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Thunberg, Carl Peter (1743-1828)
- Candolle, Augustin Pyramus de
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Thunberg, Carl Peter (1743-1828)
- Candolle, Augustin Pyramus de (1778-1841)
ชื่ออื่น ๆ
โกฐหอม, ซังตุ๊ก (จีน-สําเนียงแต้จิ๋ว); ชางจู๋ (จีน-สําเนียงแมนดาริน)
ผู้เขียนคำอธิบาย
-