โกฐขี้แมวเป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปี สูง ๑๐-๓๐ ซม. ทั้งต้นมีขนอุยทั้งชนิดมีต่อมและไร้ต่อมปกคลุมหนาแน่น รากอวบหนา รูปกระสวย เมื่อสดสีส้ม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๒-๙ ซม. ยาว ๘-๒๔ ซม. ลำต้นตั้งตรง อาจแตกกิ่งจากโคนต้น
ใบเดี่ยว ใบที่โคนต้นเรียงเวียนเป็นกระจุก ใบที่อยู่สูงขึ้นไปเรียงเวียนห่าง ๆ รูปไข่ รูปไข่กลับแกมรูปใบหอกถึงรูปรีแคบ กว้าง ๑-๖ ซม. ยาว ๒-๑๓ ซม. ปลายแหลมหรือมน โคนสอบเป็นครีบ ขอบหยักไม่สม่ำเสมอหรือจักฟันเลื่อย ส่วนใบที่ปลายต้นมีขนาดเล็กคล้ายใบประดับ
ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามง่ามใบและปลายกิ่ง ช่อตั้ง ดอกสีแดงอมม่วง ด้านในสีส้มอมเหลือง ก้านดอกยาว ๐.๕-๓ ซม. ไม่มีใบประดับย่อย กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง ยาว ๑-๑.๕ ซม. มีลายเส้น ๑๐ เส้น ปลายแยกเป็น ๕ แฉก แฉกรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก รูปไข่แกมรูปใบหอก หรือรูปถึงสามเหลี่ยม กว้าง ๒-๓ มม. ยาว ๕-๖ มม. มีน้อยมากที่แฉกด้านล่าง ๒ แฉก จะแยกเป็นแฉกย่อย กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดแคบกึ่งรูปปากเปิด ยาว ๓-๔.๕ ซม. โค้งขึ้นเล็กน้อยหรือตรง มีรอยจีบจากโคนหลอดถึงคอหลอดมีขนอุย ปลายหลอดแยกเป็น ๕ แฉก ด้านบน ๒ แฉก พับขึ้นด้านล่าง ๓ แฉก เหยียดตรง กว้าง ๐.๔-๑ ซม. ยาว ๕-๗ มม. ปลายมนถึงเว้าตื้น เกสรเพศผู้มี ๒ คู่ ยาวไม่เท่ากันอับเรณูรูปขอบขนาน ยาวประมาณ ๓ มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ เมื่อยังอ่อนมี ๒ ช่อง แต่จะเหลือ ๑ ช่องเมื่อแก่ มีออวุลจำนวนมาก ยอดเกสรเพศเมียเป็นแฉกแบน ๒ แฉก
ผลแบบผลแห้งแตกกลางพู สีแดง รูปไข่ถึงรูปไข่แคบ มีกลีบเลี้ยงติดทน เมล็ดเล็กมาก
โกฐขี้แมวเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของจีน พบขึ้นตามไหล่เขา ข้างทาง หรือตามที่รกร้าง บนพื้นที่ระดับน้ำทะเลจนถึงสูง ประมาณ ๑,๑๐๐ ม. โดยเฉพาะมณฑลกานซู่ เหอเป่ย์ เหอหนาน หูเป่ย์ เจียงซู เหลียวหนิง ซานตง ส่านซี และเน่ยหมงกู่ (มองโกเลียใน) เป็นพืชเศรษฐกิจของจีน ปลูกกันมากในมณฑลเหอหนาน ในเกาหลีและญี่ปุ่นปลูกเพื่อนำรากมาใช้เป็นยา ออกดอกและเป็นผลเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม
แพทย์แผนไทยเรียกรากแห้งของพืชชนิดนี้ว่า “โกฐขี้แมว” ใช้เป็นยาเย็นและยาแก้ช้ำใน ตำรายาแห่งประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ฉบับคริสต์ศักราช ๒๐๐๐ รับรอง “โกฐขี้แมว” เป็นเครื่องยาจีน ๒ รายการ คือ Radix Rehmanniae (รากสดและรากแห้ง) และ Radix Rehmanniae Preparata (รากปรุงแต่ง)
จีนเรียกรากสดของโกฐขี้แมวว่า เซียนตี้หวาง (สําเนียงแมนดาริน) มีรูปยาวหรือรูปกระสวย เปลือกนอกบาง สีเหลืองออกแดง มีรอยย่นโค้งตามยาว รอยเกล็ดตา และรอยช่องอากาศที่ยึดออกตามขวาง เนื้อรากนิ่ม สีเหลืองอมส้ม เปราะอาจมีรอยหักสั้น ๆ สีขาวอมเหลือง มีจุดน้ำมันสีแดงอมส้มและมีลายตามแนวรัศมี มีกลิ่นอ่อน ๆ รสหวานอมขม ใช้แก้ไข้ที่คอแดงจัดและกระหายน้ำ แก้ผื่นดวงที่ผิวหนัง ไอเป็นเลือดและเจ็บคอ ขนาดที่ใช้ ๑๒-๓๐ กรัม
จะเก็บต้นโกฐขี้แมวกันในฤดูใบไม้ร่วง นำรากสดที่ล้างสะอาดและตัดรากแขนงและรากฝอยออกแล้วตากแดดหรืออบ ให้แห้งสนิทจะได้รากแห้ง จีนเรียกว่า กานตี้หวาง หรือ เชิงตี้หวาง (สําเนียงแมนดาริน) ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นก้อนรูปร่างไม่แน่นอน หรือรูปขอบขนาน หรือรูปกระสวย ยาว ๖-๑๒ ซม. เส้นผ่านศูนย์กลาง ๓-๖ ซม. บางรากมีขนาดเล็ก บิด เนื้อแน่นภายนอกสีดำอมน้ำตาลหรือสีเทาอมน้ำตาล มีรอยย่นเป็นคลื่นจำนวนมาก เนื้อหนัก แน่น รอยหักสีดำอมน้ำตาล เป็นมัน เหนียวไม่มีกลิ่น รสหวานเล็กน้อย จีนใช้แก้ไข้ที่ทำให้ลิ้นแดงและกระหายน้ำ แก้เลือดออกจากมดลูก ไอเป็นเลือด แก้เลือดกำเดาออก และแก้ท้องผูก ขนาดที่ใช้ ๙-๑๕ กรัม
ส่วนรากปรุงแต่งนั้น จีนเรียก ซู่ตี้หวาง (สําเนียงแมนดาริน) ได้มาจากการต้มเคี่ยวรากสดในเหล้าจนเหล้าซึมซับเข้าไปในเนื้อรากทั่วกัน นำมาตากแดดจนเมือกที่ผิวนอกแห้งเล็กน้อย ตัดตามขวางเป็นชิ้น ๆ และตากแดดต่อจนแห้งสนิทหรืออาจใช้รากสดมานิ่งจนเป็นสีดำและเป็นมัน นำไปตากแดด
องค์ประกอบหลักทางเคมีหลักของโกฐขี้แมวเป็นสารกลุ่ม iridoid glycosides หลายชนิด เช่น catalpol, ajugol, rehmanniosides A-D นอกจากนี้ ยังมีสารกลุ่ม ionone glycosides เช่น rehmaionosides A-C สารกลุ่ม monoterpene glycosides เช่น rehmapicroside ตลอดจนสารอื่น ๆ อีกหลายชนิด