โกฐก้านพร้าวเป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปี รากอวบ ยาว ๑๕-๒๕ ซม. เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑ ซม. รสขม
ใบเดี่ยว เรียงเวียน ใบใกล้โคนต้นรูปซ้อนหรือรูปรีแคบออกเป็นกระจุก ยาว ๕-๑๕ ซม. ใบตอนบนรูปพาย ยาว ๕-๑๐ ซม. ปลายมน โคนสอบแคบเป็นครีบ ขอบจักฟันเลื่อยแผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง
ช่อดอกแบบช่อกระจะ ก้านช่อดอกโดด ออกที่ปลายต้นรูปกึ่งทรงกระบอก ยาว ๕-๑๕ ซม. ก้านช่อดอกยาว ๑๐-๑๕ ซม. โคนช่อดอกอาจมีใบประดับหรือไม่มี ใบประดับรูปรีหรือรูปใบหอก ยาวเกือบเท่าความยาวของกลีบเลี้ยง ดอกสีฟ้าอ่อน มีจำนวนมาก มีขนหยาบแข็ง กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ รูปใบหอก ยาวประมาณ ๑ ซม. มีขนครุย กลีบดอกยาว ๖-๘ มม. โคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น ๕ แฉก เกือบเท่ากัน เกสรเพศผู้ ๔ อัน ก้านชูอับเรณูเรียว ยาว ๔-๕ เท่าของความยาวกลีบดอก โคนอับเรณูค่อนข้างถ่าง รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลหลายเม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียวยาว ยอดเกสรเพศเมียเป็นกระจุกและยื่นออก
ผลแบบผลแห้งแตกตามรอยประสาน รูปไข่ ยาวประมาณ ๑ ซม. ปลายสอบเรียว มีร่องตามยาวเป็นรอยจาง ๆ ล้อมด้วยกลีบเลี้ยงที่ติดทน ๕ กลีบ เมล็ดมีจำนวนมาก ยาวประมาณ ๑ มม.
โกฐก้านพร้าวมีเขตการกระจายพันธุ์ในที่แห้งแล้งบริเวณซีกตะวันตกของเทือกเขาหิมาลัย ที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๒,๗๐๐-๔,๕๐๐ ม. ออกดอกระหว่างเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม เป็นผลระหว่างเดือนสิงหาคมถึงกันยายน ผลแก่จัดประมาณปลายเดือนกันยายน
เหง้ามีรสขมจัด นำมาตากแห้งใช้ทำยา ตำราแพทย์แผนไทยว่า โกฐก้านพร้าวมีสรรพคุณแก้ไข้เรื้อรัง ไข้ที่มีอาการสะอึกร่วมด้วย และแก้เสมหะเป็นพิษ เครื่องยานี้จัดอยู่ในพิกัดโกฐทั้ง ๗ และโกฐทั้ง ๙ ในอินเดียและศรีลังกาใช้โกฐก้านพร้าวเป็นยาขมช่วยให้เจริญอาหาร เป็นยาช่วยย่อย บำรุงหัวใจ แก้ไข้ และใช้ในยาถ่ายยาระบายหลายขนาน นอกจากนั้น ยังใช้เป็นยาแก้บิด แก้หอบหืด และทาภายนอกแก้พิษแมลงป่อง
โกฐก้านพร้าวมีองค์ประกอบทางเคมีเป็นสาร ๓ กลุ่ม คือ สารกลุ่ม iridoid glycosides เช่น picroside I, picroside II, Kutkoside กลุ่ม cucurbitacin glycosides ปัจจุบันมีรายงานว่าพบสารกลุ่มนี้มากกว่า ๒๕ ชนิด และกลุ่ม phenolic glycosides เช่น picein, androcin