โกฐเป็นชื่อเครื่องยาเทศหลายชนิดที่ใช้ในยาไทยมาแต่โบราณ ส่วนใหญ่ได้จากพืช แพทย์แผนไทยจัดไว้เป็นพิกัดยาคือจำกัดจำนวนไว้เป็นพวก ๆ ยกเว้นโกฐทุ่งนา
คำที่ออกเสียงว่า “โกด” อาจเขียนได้หลายอย่าง แต่ให้ความหมายต่างกัน ส่วนที่ใช้เรียกเครื่องยานั้น ตำรายาไทย เขียนไว้หลายแบบ เป็นโกฐ โกฏ โกฏฐ์ โกษฐ์ หรือโกด ก็มีพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน เลือกเก็บคำ “โกฐ” ไว้
คำ “โกฐ” มาจากภาษาบาลีและสันสกฤตว่า “ป. โกฏฐ, ส. โกษฐ” ซึ่งในพจนานุกรมบาลีสันสกฤตมีความหมายว่า “ลำไส้ กระเพาะ; ที่เก็บทรัพย์สมบัติ”
โกฐเป็นเครื่องยาที่ใช้ในปริมาณเล็กน้อย แต่มีประสิทธิภาพสูงในการบำบัดโรคในระยะเวลาสั้น ๆ โบราณจัดแบ่งพิกัดโกฐออกเป็น ๔ กลุ่ม คือ พิกัดโกฐทั้ง ๕ พิกัดโกฐทั้ง ๗ พิกัดโกฐทั้ง ๙ และพิกัดโกฐพิเศษ
พิกัดโกฐทั้ง ๕ ประกอบด้วย โกฐเชียง โกฐสอ โกฐหัวบัว โกฐเขมา และโกฐจุฬาลำพา, พิกัดโกฐทั้ง ๗ มีโกฐก้านพร้าวและโกฐกระดูกเพิ่มเข้ามา, พิกัดโกฐทั้ง ๙ มีโกฐพุงปลาและโกฐชฎามังษีเพิ่มเข้ามา และพิกัดโกฐพิเศษมีโกฐกะกลิ้ง โกฐ กักกรา และโกฐน้ำเต้า