ไข่กุ้ง

Rubus ellipticus Sm.

ชื่ออื่น ๆ
กูวอาซา, กูอาซา, โก้วอาซา, ไข่ปู, มะฮู้หลวง, หนามไข่กุ้ง (เหนือ)
ไม้รอเลื้อย กิ่งเป็นเหลี่ยม มีขนแข็งสีแดงและมีหนามแข็ง ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงสลับ มีใบย่อย ๓ ใบ รูปรีหรือกลม หูใบเป็นเส้นเชื่อมติดกับก้านใบ มีขน ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามง่ามใบและปลายกิ่ง ดอกสีขาว ผลแบบผลกลุ่ม ผลย่อยแบบผลผนังชั้นในแข็ง

ไข่กุ้งเป็นไม้พุ่มหรือไม้รอเลื้อย กิ่งเป็นเหลี่ยมและมีร่อง มีขนยาวแข็งสีแดงและมีหนามแข็ง

 ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงสลับ มีใบย่อย ๓ ใบ รูปรีหรือรูปกลม กว้าง ๒-๕ ซม. ยาว ๓-๖ ซม. ใบย่อยที่ปลายมีขนาดใหญ่กว่าและมีก้านใบ ใบย่อยคู่ข้างไม่มีก้านใบ ปลายมนหรือเว้าเล็กน้อยเห็นไม่ชัดเจน โคนมน ขอบหยักซี่ฟัน แผ่นใบหนา ด้านล่างมีขนสีเทาหนาแน่น เส้นแขนงใบข้างละประมาณ ๑๐ เส้น เห็นชัดทางด้านล่าง ก้านใบยาว ๒-๔ ซม. ด้านบนเป็นร่อง หูใบเป็นเส้นเชื่อมติดกับก้านใบ มีขน

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามง่ามใบและปลายกิ่ง ช่อตามง่ามใบยาวประมาณ ๕ ซม. ช่อตามปลายกิ่งยาวประมาณ ๑๐ ซม. ดอกสีขาว มีเส้นผ่านศูนย์กลาง ๐.๕-๑.๒ ซม. ก้านดอกยาว ๐.๕-๑ ซม. ใบประดับมีขนแข็ง กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ โคนติดกันเป็นรูปถ้วย ปลายแยกเป็นกลีบรูปไข่ ปลายมนหรือเป็นติ่งหนาม มีขนหนานุ่มทั้ง ๒ ด้าน กลีบดอก ๕ กลีบ รูปไข่กลับ โคนมีก้านกลีบดอกขอบจักฟันเลื่อย เกสรเพศผู้มีจำนวนมาก เรียงชั้นเดียว อับเรณูรูปกลม เกสรเพศเมียมีจำนวนมาก แยกกัน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ แต่ละรังไข่มี ๑ ช่อง ออวุล ๑ เม็ด

 ผลแบบผลกลุ่ม ผลย่อยแบบผลผนังชั้นในแข็ง มีเมล็ด ๑ เมล็ด ผิวย่น

 ไข่กุ้งมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ขึ้นตามที่โล่งบนเขา ที่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๙๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่อินเดีย เนปาล ศรีลังกา เวียดนาม และฟิลิปปินส์

 ผลกินได้ รสเปรี้ยวอมหวาน.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ไข่กุ้ง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Rubus ellipticus Sm.
ชื่อสกุล
Rubus
คำระบุชนิด
ellipticus
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Smith, James Edward
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1759-1828)
ชื่ออื่น ๆ
กูวอาซา, กูอาซา, โก้วอาซา, ไข่ปู, มะฮู้หลวง, หนามไข่กุ้ง (เหนือ)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ.บุศบรรณ ณ สงขลา