ตะคล้อยย่านเป็นไม้เถาเนื้อแข็ง มียางสีขาวคล้ายน้ำนม กิ่งอ่อนมีขนสั้นนุ่มหนาแน่น กิ่งแก่มีช่องอากาศ
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปรีหรือรูปรีแกมรูปไข่กว้าง ๔.๕-๘.๕ ซม. ยาว ๖-๑๔.๕ ซม. ปลายเรียวแหลมสั้น โคนรูปลิ่ม มนหรือเว้าเล็กน้อย แผ่นใบบางจนถึงกึ่งหนาคล้ายแผ่นหนัง เส้นแขนงใบข้างละ ๖-๙ เส้น ปลายโค้งจดกัน โคนเส้นกลางใบด้านล่างมีขนแข็ง ก้านใบยาว ๐.๘-๑.๕ ซม. มีขนแข็ง
ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนงคล้ายช่อเชิงหลั่น ออกตามยอด ทั้งช่อยาว ๕.๕-๑๙.๕ ซม. มีขนสั้นนุ่มหนาแน่น สีเหลืองหม่นแกมสีน้ำตาล ก้านช่อยาวประมาณ ๑ ซม. แขนงช่อออกตรงข้าม ใบประดับรูปใบหอก ยาวประมาณ ๗ มม. ก้านดอกยาว ๐.๘-๑.๗ ซม. ใบประดับย่อยคล้ายใบประดับของช่อดอก กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ รูปแถบแกมรูปใบหอก กว้าง ๒-๖ มม. ยาว ๑.๔-๒.๓ ซม. ปลายแหลมถึงเรียวแหลมคล้ายหาง มีขนทั้ง ๒ ด้าน โคนกลีบด้านในอาจมีหรือไม่มีต่อม กลีบดอกสีขาวหรือสีนวล โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาว ๐.๘-๑.๔ ซม. กลางหลอดป่องออกเล็กน้อย ด้านนอกมีขนสั้นนุ่ม ด้านในมีขนยาวนุ่มเป็นแถว ๕ แถว ปลายหลอดแยกเป็น ๕ แฉก รูปค่อนข้างกลมหรือรูปไข่กลับ กว้าง ๖-๘ มม. ยาว ๐.๘-๑.๕ ซม. ปลายมน เป็นคลื่นเล็กน้อย แฉกกลีบเรียงซ้อนเหลื่อมไปทางขวา มีขนตามขอบด้านนอกที่ไม่ซ้อนกัน เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ติดอยู่ภายในหลอดดอกบริเวณที่ป่อง ก้านชูอับเรณูสั้นมาก อับเรณูรูปคล้ายหัวลูกศร กว้าง ๑-๑.๕ มม. ยาว ๔.๗-๖.๗ มม. จานฐานดอกหุ้มรอบรังไข่สูง ๒-๓ มม. ปลายหยักแบบหยักซี่ฟัน ๕ หยัก รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๒ รังไข่ แยกจากกัน แต่ละรังไข่ยาวประมาณ ๑ มม. มี ๑ ช่อง มีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียเชื่อมติดกัน ยาว ๔-๕ มม. ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม เกลี้ยงหรือมีขนสั้นนุ่ม
ผลแบบผลแห้งแตกแนวเดียว รูปทรงกระบอกยาวเรียว เมล็ดรูปขอบขนานหรือรูปแถบ ปลายด้านหนึ่งมีขนเป็นพู่ มีจำนวนมาก
ตะคล้อยย่านมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันตกเฉียงใต้และภาคใต้ พบขึ้นตามที่โล่งในป่าดิบ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางถึงประมาณ ๔๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนกันยายนถึงพฤศจิกายนในต่างประเทศพบที่เมียนมาและมาเลเซีย.