จอกบ่อวาย

Drosera burmannii Vahl

ชื่ออื่น ๆ
หญ้าน้ำค้าง, หญ้าน้ำหมาก, หมอกบ่วาย, หยดน้ำค้าง (ตะวันออกเฉียงเหนือ)
ไม้ล้มลุกหลายปี ลำต้นสั้นมาก ใบเดี่ยว เรียงเวียนถี่ซ้อนเหลื่อมกันเป็นกระจุกแบบดอกกุหลาบซ้อน สีเขียวอมเหลืองหรือสีแดงถึงสีม่วงแกมแดงตามขอบและผิวใบด้านบนมีขนต่อมสีเขียวถึงสีแดงหรือมีต่อมโปร่งแสง ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามยอดหรือตามซอกใบใกล้ยอด ดอกเรียงแนวเดียวตามแกนช่อ สีขาวหรือสีม่วงอมแดง ผลแบบผลแห้งแตกรูปค่อนข้างกลม เมล็ดรูปทรงรี สีน้ำตาลเข้มถึงสีดำมีจำนวนมาก

จอกบ่อวายเป็นไม้ล้มลุกหลายปี มีรากฝอยลำต้นสั้นมากเห็นไม่ชัด ต้นที่อยู่ในที่ร่มอาจสูงประมาณ ๑ ซม.

 ใบเดี่ยว เรียงเวียนถี่ซ้อนเหลื่อมกันเป็นกระจุกแบบดอกกุหลาบซ้อน มักแนบชิดพื้นดิน เส้นผ่านศูนย์กลางกระจุก ๐.๘-๓.๕ ซม. รูปไข่กลับถึงรูปค่อนข้างกลม กว้าง ๔-๘ มม. ยาว ๐.๖-๑.๕ ซม. ปลายมนและมีริ้ว โคนสอบเรียวเข้าหาก้านใบ ขอบเรียบ แผ่นใบสีเขียวอมเหลืองหรือสีแดงถึงสีม่วงแกมแดง ตามขอบและผิวด้านบนมีขนต่อมสีเขียวถึงสีแดงหรือมีต่อมโปร่งแสง ภายในต่อมมีน้ำเหนียว มักถูกขับออกมาจากปากต่อมคล้ายหยดน้ำค้าง ขนต่อมตามผิวใบสั้นกว่าขนต่อมตามขอบใบ เส้นใบเห็นไม่ชัด ก้านใบแผ่แบนสั้นหรือเห็นไม่ชัด หูใบอยู่ในซอกใบ ยาว ๓-๘ มม. โคนหูใบเชื่อมติดกับโคนก้านใบ ปลายหูใบจักเป็นครุย ๓-๖ แฉก

 ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามยอดหรือตามซอกใบใกล้ยอด มี ๑-๓ ช่อ ยาว ๔-๒๗ ซม. แต่ละช่อมี ๒-๒๕ ดอก เรียงแนวเดียวตามแกนช่อ แกนช่อยาว ๑-๙.๕ ซม. ใบประดับรูปเงี่ยงใบหอก ยาว ๑-๓ มม. ก้านดอกยาว ๑-๗ มม. ดอกตูมสีแดงอมน้ำตาล ดอกบานเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๗ มม. กลีบเลี้ยงสีเขียวอ่อน สีแดง หรือสีม่วงอมแดง โคนเชื่อมติดกันเล็กน้อย ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปขอบขนานแคบ ยาว ๒-๓ มม. ด้านนอกมีขนต่อมและปุ่มเล็ก กลีบดอกสีขาวหรือสีม่วงอมแดง มี ๕ กลีบ รูปไข่กลับหรือรูปช้อน กว้าง ๒-๓ มม. ยาว ๔-๕ มม. เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ยาว ๒-๓ มม. อับเรณูรูปหัวลูกศร รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปค่อนข้างกลม มี ๑ ช่อง มีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมีย ๕ ก้าน เรียว ยาว ๒-๓ มม. ยอดเกสรเพศเมียเป็นหยักคล้ายหยักซี่ฟันสั้น ๆ

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปค่อนข้างกลม ยาว ๑-๒ มม. เมล็ดรูปทรงรี ขนาดเล็กมาก สีน้ำตาลเข้มถึงสีดำ มีจำนวนมาก

 จอกบ่อวายมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค พบขึ้นตามที่โล่งชื้น ตามดินทรายและในนาข้าว ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๑,๔๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนกรกฎาคมถึงธันวาคม ในต่างประเทศพบในแถบร้อนชื้นที่อินเดีย ศรีลังกา จีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น ภูมิภาคอินโดจีน ภูมิภาคมาเลเซีย และทางตะวันออกเฉียงเหนือของออสเตรเลีย

 ประโยชน์ ทั้งต้นใช้เป็นสมุนไพร.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
จอกบ่อวาย
ชื่อวิทยาศาสตร์
Drosera burmannii Vahl
ชื่อสกุล
Drosera
คำระบุชนิด
burmannii
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Vahl, Martin (Henrichsen)
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1749-1804)
ชื่ออื่น ๆ
หญ้าน้ำค้าง, หญ้าน้ำหมาก, หมอกบ่วาย, หยดน้ำค้าง (ตะวันออกเฉียงเหนือ)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางจารีย์ บันสิทธิ์