ข้าวป้างสามง่ามเป็นไม้ล้มลุกปีเดียว สูงได้ถึง ๑.๗ ม. ลำต้นตั้งตรง แตกกอแน่น ตอนโคนอาจโค้งงอเล็กน้อย ข้อโป่งพอง ปล้องแบน เกลี้ยง สีเขียวอ่อนและเป็นมันวาว
ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปแถบ กว้าง ๐.๖-๒ ซม. ยาว ๓๐-๗๕ ซม. ปลายเรียวแหลม ใบมักพับตามแนวเส้นกลางใบคล้ายรางน้ำ ด้านบนมีขนสาก กาบใบแบนและเป็นสันตามแนวกลางโอบลำต้นหลวม ๆ ซ้อนเหลื่อมกัน ปลายขอบแยกห่างกันและมีขนประปราย ลิ้นใบเป็นชายครุยสั้น
ช่อดอกแบบช่อเชิงลดเชิงประกอบ ออกที่ปลายกิ่งประกอบด้วยช่อเชิงลด ๓-๒๖ ช่อ เรียงคล้ายรูปนิ้วมือที่ปลายช่อ และมักมีเพิ่มอีก ๑-๒ ช่อ อยู่ต่ำลงมาจากกลุ่มช่อที่ปลาย แต่ละช่อเชิงลดตั้งขึ้น แผ่กางออก หรือโค้งเข้ากว้างได้ถึง ๑ ซม. ยาว ๓.๕-๑๕ ซม. มีช่อดอกย่อยจำนวนมากเรียงสลับ ๒ แถวบนด้านเดียวของแกนกลางช่อเชิงลดช่อดอกย่อยแบนด้านข้าง รูปรีแกมรูปไข่ ยาวได้ถึง ๑ ซม. กาบรองรับช่อดอกย่อย ๒ กาบ รูปเรือ มีสันพับตามยาวกาบล่างมีเส้นตามยาว ๑ เส้น กาบบนมีเส้นตามยาว ๓-๗ เส้น เหนือกาบขึ้นไปมีดอก ๓-๑๒ ดอก เรียงสลับบนแกนกลางย่อยซึ่งคดไปมา ดอกเป็นดอกสมบูรณ์เพศยกเว้นดอกที่ปลายช่อดอกย่อยเป็นหมันหรือเป็นดอกเพศผู้กาบรองรับดอก ๒ กาบ รูปเรือ กาบล่างยาว ๒-๕ มม. กาบบนยาว ๑.๕-๓.๘ มม. กลีบเกล็ด ๒ กลีบ เกสรเพศผู้ ๓ เกสร รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงรี มี ๑ ช่อง ออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียวยาวเป็นเส้น ๒ เส้น ยอดเกสรเพศเมียมีขนยาวนุ่ม
ผลแบบผลกระเปาะ รูปทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑-๒ มม. ผนังผลอ่อนนุ่ม บางคล้ายกระดาษ สีส้ม สีแดง สีน้ำตาลถึงสีดำ หรือสีขาว ผิวเรียบหรือมีรอยย่นตามขวางเมล็ดมี ๑ เมล็ด
ข้าวป้างสามง่ามเป็นพรรณไม้ต่างประเทศ มีถิ่นกำเนิดที่แอฟริกาตะวันออก ทางภาคตะวันตกของยูกันดาถึงเอธิโอเปีย นำเข้ามาปลูกทั่วไปในเขตร้อน ที่สูงจากระดับทะเลได้ถึง ๒,๔๐๐ ม. มีปลูกบ้างไม่มากในภูมิภาคอินโดจีน มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ในประเทศไทยพบปลูกทางภาคเหนือ
ข้าวป้างสามง่ามเป็นธัญพืช ที่มีโครโมโซม ๔ ชุด (2n=36) มีความผันแปรของลักษณะต่าง ๆ มาก มีพันธุ์ปลูกมากมาย
ประโยชน์ เมล็ดใช้เป็นอาหารของคนและสัตว์เป็นอาหารหลักที่สำคัญของคนในบางพื้นที่ของแอฟริกาตะวันออกและอินเดีย โดยใช้เมล็ดทำแป้ง ทำขนมปังทำมอลต์ หมักทำเบียร์ ในชวาตะวันตก ใช้ต้นอ่อนกินสดหรือนึ่งเป็นผัก ต้นใช้เป็นอาหารสัตว์ ต้นแก่ซึ่งเป็นมันวาวใช้ถักทอ นอกจากนี้ยังใช้ปลูกกันดินพังทลาย.