โกงกางเขา

Fagraea ceilanica Thunb.

ชื่ออื่น ๆ
นางสวรรค์, นิ้วนางสวรรค์ (ใต้); ฝ่ามือผี (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน); โพดา (ปัตตานี)
ไม้พุ่มกึ่งไม้ต้น อิงอาศัยบนต้นไม้หรือเป็นไม้พุ่มรอเลื้อยใบเรียงตรงข้าม มีหลายแบบ รูปไข่ รูปไข่กลับถึงรูปขอบขนานหรือรูปใบหอกแคบ ช่อดอกออกใกล้ปลายยอด ดอกสีขาวนวลผลรูปไข่ รูปรี หรือค่อนข้างกลม มีจะงอยยาว

โกงกางเขาเป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ต้น อิงอาศัยอยู่บนต้นไม้หรือขึ้นบนพื้นดิน หรืออาจเป็นไม้พุ่มรอเลื้อย สูง ๓-๑๕ ม. กิ่งก้านมีข้อ

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม มีรูปร่างหลายแบบ ตั้งแต่รูปไข่รูปไข่กลับ ถึงรูปขอบขนาน หรือรูปใบหอกแคบ กว้าง ๒-๙ ซม. ยาว ๔-๓๕ ซม. โคนสอบมนหรือค่อนข้างเป็นรูปหัวใจปลายมนแล้วค่อยแหลมเป็นติ่งสั้น ขอบเรียบ ใบค่อนข้างหนาเป็นมัน เมื่อแห้งสีน้ำตาลแกมสีเขียวมะกอก ด้านล่างสีเข้มกว่าด้านบน เส้นกลางใบเห็นชัดทางด้านล่าง เส้นแขนงใบข้างละ ๔-๘ เส้น เห็นไม่ชัดทั้ง ๒ ด้าน ก้านใบยาว ๐.๕-๓.๕ ซม.

 ช่อดอกออกใกล้ปลายยอด ก้านดอกยาว ๐.๒-๓.๕ ซม. มีใบประดับ ๒ ใบ ขนาดเล็กหรือยาวถึง ๒ ซม. อยู่ใต้กลีบเลี้ยงบริเวณกึ่งกลางก้านช่อดอก กลีบเลี้ยงยาว ๑-๒.๕ ซม. โคนติดกันกว่าครึ่งหนึ่งเป็นรูประฆัง ปลายจักลึก


กลีบดอกสีขาวนวล โคนติดกันเป็นรูปกรวย ยาว ๒-๕ ซม. ปลายแยกเป็นแฉกกลม สั้นกว่าหลอดดอก เกสรเพศผู้ ๕ อัน ก้านชูอับเรณูโคนหนา อับเรณูรูปขอบขนานหรือรูปไข่ ยาว ๕-๘ มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปไข่ มี ๑ ช่อง ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวเท่ากับเกสรเพศผู้ ยอดเกสรเพศเมียแผ่เป็นรูปจานเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๒ มม.

 ผลรูปไข่ รูปรี หรือค่อนข้างกลม ยาว ๓-๕ ซม. มีจะงอยยาว สีเขียวขุ่น ๆ กลีบเลี้ยงโอบหุ้มผล

 โกงกางเขามีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค พบตามป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขา ในต่างประเทศพบที่จีนตอนใต้ หมู่เกาะไต้หวันตอนใต้ อินเดีย ศรีลังกา พม่า ภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
โกงกางเขา
ชื่อวิทยาศาสตร์
Fagraea ceilanica Thunb.
ชื่อสกุล
Fagraea
คำระบุชนิด
ceilanica
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Thunberg, Carl Peter (1743-1828)
ชื่ออื่น ๆ
นางสวรรค์, นิ้วนางสวรรค์ (ใต้); ฝ่ามือผี (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน); โพดา (ปัตตานี)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ก่องกานดา ชยามฤต