แก้วลาวเป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๓๕ ม. โคนมีพอนขนาดเล็ก เปลือกสีน้ำตาลอมเทาถึงน้ำตาลเข้ม ตามกิ่งอ่อนมีช่องอากาศ เปลือกในสีขาวถึงน้ำตาลอมชมพู กระพี้สีเหลืองอมชมพู
ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียน ใบถัดจากใบปลายเรียงตรงข้าม ก้านใบประกอบยาว ๓-๑๐ ซม. เกือบกลมด้านบนแบน เกลี้ยงหรือมีขนนุ่ม ใบย่อย ๓-๕ ใบ รูปรี รูปขอบขนาน หรือรูปใบหอกกลับ กว้าง ๓-๑๐ ซม. ยาว ๒๐-๓๐ ซม. ใบปลายใหญ่สุด ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนรูปลิ่มหรือสอบเรียว ขอบเรียบ แผ่นใบคล้ายแผ่นหนัง ด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมีนวล เส้นกลางใบเกลี้ยงหรือมีขนประปราย เส้นแขนงใบข้างละ ๓-๑๐ เส้น ปลายโค้งขึ้น ก้านใบย่อยยาว ๐.๕-๑.๕ ซม. ปลายก้านเป็นข้องอ
ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามง่ามใบใกล้ปลายยอด ยาว ๑๐-๓๕ ซม. มีขนหนาแน่น ดอกสีขาว มีทั้งดอกสมบูรณ์เพศหรือเป็นดอกเพศผู้อย่างเดียว รูปทรงกระบอกกว้างและยาว ๓-๕ มม. ก้านดอกยาว ๑-๒ มม. กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ รูปสามเหลี่ยม ยาว ๑-๒ มม. ปลายแหลม ด้านนอกมีขนหนาแน่น ด้านในเกลี้ยง กลีบดอก ๕ กลีบ รูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๒ มม. ยาว ๓-๔ มม. ปลายแหลมด้านนอกมีขน ส่วนด้านในเกลี้ยง เกสรเพศผู้ ๑๐ อัน อับเรณูรูปคล้ายสามเหลี่ยม แตกตามยาว ก้านชูอับเรณูโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น ๒ แฉกเล็ก ๆ ปลายแหลม มีขนจานฐานดอกรูปวงแหวน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มีขนทั้งหนาแน่นมี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวไม่เกิน ๑ มม. ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม
ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด สีเขียวอ่อนหรือแดงรูปกลมหรือรี เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑-๒.๕ ซม. มีขนสั้นประปรายผลแห้งสีน้ำตาล มี ๑-๒ เมล็ด รูปรี ยาว ๑.๒-๒.๕ ซม. เยื่อหุ้มเมล็ดสีขาวหรือใส รสหวาน มียางใสเหนียว
แก้วลาวมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงใต้ขึ้นตามป่าดิบชื้น ที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๕๐-๑,๓๐๐ ม. ออกดอกระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน เป็นผลเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม ในต่างประเทศพบที่จีนตอนใต้ พม่า กัมพูชา เวียดนาม และภูมิภาคมาเลเซีย เปลือกใช้ประกอบยาต้มแก้โรคบิดและท้องร่วง (Burkill, ๑๙๖๖).