แก้วน้ำเป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้น สูง ๒-๑๐ ม. กิ่งอ่อนมักเป็นร่องและมีขนนุ่ม กิ่งแก่สีเทา เปลือกเรียบ
ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปคล้ายใบหอกแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๑-๗ ซม. ยาว ๓-๑๕ ซม. ปลายแหลมถึงเรียวแหลมโคนป้านหรือมน ขอบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบหนาด้านล่างมีขนเฉพาะบนเส้นกลางใบและเส้นแขนงใบ เส้นแขนง ใบข้างละ ๑๐-๑๕ เส้น ก้านใบสั้นมาก มีขนสีน้ำตาล หูใบรูปสามเหลี่ยมฐานแคบ ยาว ๒-๗ มม. ไม่ร่วงง่าย
ดอกแยกเพศร่วมต้น ออกเป็นช่อกระจุกตามง่ามใบ มี ๔-๑๐ ดอกสีขาวหรือขาวนวล ไม่มีก้านดอก ใบประดับหลายใบรูปคล้ายหูใบ มีขนสีขาวหรือน้ำตาล กลีบเลี้ยงเด็ก โคนติดกันปลายแยกเป็น ๕ แฉก แต่ละแฉกรูปสามเหลี่ยม ผิวเกลี้ยงหรือมีขนสั้น ๆ กลีบดอกเล็กมาก มี ๕ กลีบ สีขาวนวล ค่อนข้างกลมหรือรูปไข่กลับ ขอบกลีบหยักเว้า ๓-๕ หยัก ในดอกเพศผู้มีเกสรเพศผู้ ๕ อัน อับเรณูรูปไข่แกมรูปขอบขนาน แตกเป็นแนวยาวอยู่ด้านข้าง ก้านชูอับเรณูเป็นแท่งปลายแหลมดอกเพศเมียมีรังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปแป้น ๆ มีขนยาวสีขาวเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๒ มม. มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑-๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียมี ๓ อัน แต่ละอันปลายแยกเป็น ๒ แฉก จานฐานดอกสีน้ำตาล ขอบหยักย่น
ผลแป้น แบบผลแห้งแตก ไม่มีก้าน เส้นผ่านศูนย์กลาง ๐.๗-๑ ซม. เมื่อแห้งแตกเป็น ๓ เสี่ยง แต่ละเสี่ยงมี ๑-๒ เมล็ด เมล็ดสีน้ำตาลแดง รูปสามเหลี่ยมแกมรูปไข่กลับ ยาวประมาณ ๔ มม. ปลายหยัก โคนแหลม
แก้วน้ำมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาคขึ้นบนพื้นที่ค่อนข้างชื้นริมลำธารในป่าผลัดใบ บนพื้นที่ระดับต่ำจนถึงสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๖๐๐ ม. ในต่างประเทศ พบที่ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย
ในมาเลเซียใช้ใบและผลเบื่อปลา (Perry and Metzger, 1980).