แก้วตาไว

Pterolobium macropterum Kurz

ชื่ออื่น ๆ
กะแทวแดง, หนามกะแทง (ตะวันออกเฉียงเหนือ); แก้วมือไว (กลาง); เครือจ๋ายแดง, หนามจับ, หนามจาย, หนามจายแ
ไม้เถาเนื้อแข็ง ลําต้นและก้านใบมีหนาม ใบอ่อนและช่อดอกมีขน ใบประกอบแบบขนนกสองชั้น เรียงสลับ ใบย่อยรูปรีแกมรูปขอบขนาน ถึงรูปไข่กลับแกมรูปขอบขนาน ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามง่ามใบและปลายกิ่ง ดอกสีขาวอมชมพู ผลแบบผลปีกเดียว สีแดงเข้ม

แก้วตาไวเป็นไม้เถาเนื้อแข็ง เลื้อยพาดไปตามต้นไม้ ลําต้นและก้านใบมีหนามงองุ้ม กิ่งอ่อน ใบอ่อน และช่อดอกมีขนนุ่มสั้น ๆ

 ใบประกอบแบบขนนกสองชั้น เรียงสลับ ก้านใบประกอบ ยาว ๑๕-๒๐ ซม. ใบประกอบแยกแขนงตรงข้ามกัน ๖-๘ คู่ แต่ละแขนงมีใบย่อยขนาดเล็กเรียงตรงข้ามกัน ๗-๑๐ คู่ รูปรีแกมรูปขอบขนาน ถึงรูปไข่กลับแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๕-๗ มม. ยาว ๐.๘-๑.๒ ซม. ปลายมนถึงหยักเว้า โคนเบี้ยว

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามง่ามใบและปลายกิ่ง ยาว ๑๐-๒๐ ซม. แต่ละแขนงยาว ๑๐-๑๕ ซม. ดอกสีขาวอมชมพู เส้นผ่านศูนย์กลาง ๐.๗-๑ ซม. กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ โคนติดกัน แฉกนอกสุดเรียว กว้างประมาณ ๒ มม. ยาว ประมาณ ๘ มม. แฉกอื่น ๆ รูปขอบขนานแกมรูปไข่สั้นกว่าเล็กน้อย กลีบดอก ๕ กลีบ กลีบบนเป็นกลีบที่อยู่ในสุดและเป็นกลีบที่ใหญ่กว่ากลีบอื่น ๆ รูปรีแกมรูปขอบขนาน ปลายมน กว้างประมาณ ๓ มม. ยาวประมาณ ๘ มม. กลีบที่เหลือลักษณะใกล้เคียงกันกับกลีบแรก กว้างประมาณ ๓ มม. ยาว ประมาณ ๘ มม. เกสรเพศผู้ ๑๐ อัน ก้านชูอับเรณูมีขน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑ ช่อง มืออวุล ๑-๒ เม็ด

 ผลแบบผลปีกเดียว สีแดงเข้ม ส่วนที่หุ้มเมล็ดรูปรีถึงรูปไข่กลับ กว้าง ๑-๑.๒ ซม. ยาว ๑.๘-๒ ซม. ส่วนที่เป็นปีกรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ เบี้ยว ปลายมน กว้าง ๒-๒.๓ ซม. ยาว ๔-๕ ซม.

 แก้วตาไวมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันตกเฉียงใต้ ขึ้นในป่าเบญจพรรณ ที่ระดับน้ำทะเลจนถึงสูงประมาณ ๑,๓๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่พม่า ลาว และอินโดนีเซียที่เกาะชวา.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
แก้วตาไว
ชื่อวิทยาศาสตร์
Pterolobium macropterum Kurz
ชื่อสกุล
Pterolobium
คำระบุชนิด
macropterum
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Kurz, Wilhelm Sulpiz
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1834-1878)
ชื่ออื่น ๆ
กะแทวแดง, หนามกะแทง (ตะวันออกเฉียงเหนือ); แก้วมือไว (กลาง); เครือจ๋ายแดง, หนามจับ, หนามจาย, หนามจายแ
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ชวลิต นิยมธรรม