แก้วเจ้าจอมเป็นไม้ต้น สูง ๑๐-๑๕ ม. เปลือกสีเทาเข้ม กิ่งมีข้อพองเป็นปุ่ม ๆ ทั่วไป กิ่งอ่อนค่อนข้างแบน
ใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ มีใบย่อย ๒-๓ คู่ เรียงตรงข้าม แกนกลางยาว ๑-๑.๕ ซม. ก้านใบประกอบยาว ๐.๕-๑ ซม. ใบย่อยรูปไข่กลับ รูปไข่กว้าง หรือรูปรี เบี้ยวเล็กน้อยใบย่อยคู่ปลายกว้าง ๑.๘-๒ ซม. ยาว ๓.๒-๓.๕ ซม. ใบย่อยคู่ที่อยู่ตอนโคนกว้าง ๑.๒-๑.๕ ซม. ยาว ๒.๕-๒.๗ ซม. ปลายมน โคนสอบ ขอบเรียบ แผ่นใบด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมันด้านล่างสีอ่อนกว่า มีจุดสีส้มที่โคนใบย่อยด้านบนไม่มีก้านใบย่อยหูใบและใบประดับเล็ก ร่วงง่าย
ดอกเดี่ยว ออกเป็นกระจุกที่ยอด ๓-๔ ดอก สีฟ้าอมม่วง และจะซีดลงเมื่อใกล้โรย ก้านดอกยาว ๑-๑.๕ ซม. กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ รูปไข่ โคนติดกันเล็กน้อย ร่วงง่าย มีขนประปราย กลีบดอก ๕ กลีบ รูปรีหรือรูปไข่ กว้างประมาณ ๑ ซม. ยาวประมาณ ๒ ซม. เกสรเพศผู้ ๑๐ อัน แยกกันรังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๕ แฉก
ผลแบบผลแห้งแตก รูปหัวใจกลับ มีครีบ ๒ ข้าง สีเหลืองหรือสีส้ม กว้างประมาณ ๑.๒ ซม. ยาวประมาณ ๑.๘ ซม. ก้านผลยาว ๑.๕-๓ ซม. มี ๑-๒ เมล็ด รูปรี สีน้ำตาล
แก้วเจ้าจอมมีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาใต้และหมู่เกาะ
สารเคมีที่พบในยางไม้ประกอบด้วย guaiaconic acid ประมาณร้อยละ ๗๐, guaiaretic acid ประมาณร้อยละ ๑๑ นอกจากนี้ ยังมี guaiacic acid, guaiacinic acid และ guaiacresinic acid เล็กน้อย และยังมี guaiacsaponin, guaiaguttin, guaiac yellow, vanillin และน้ำมันระเหยง่าย (Youngken, 1950).