ไข่แลน

Stixis obtusifolia (Hook. f. & Thomson) Pierre

ไม้เถา ใบเรียงสลับ รูปรี ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามปลายยอด ดอกสีขาวอมเขียว ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด สีเขียวแกมเทา

ไข่แลนเป็นไม้เถาเนื้อแข็ง เมื่อยังอ่อนมีขนสั้นนุ่ม แก่แล้วเกลี้ยง มีช่องอากาศทั่วไป

 ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปรี กว้าง ๓-๔.๕ ซม. ยาว ๖-๙.๕ ซม. ปลายเว้าตื้น มีติ่งหนาม โคนมนหรือแหลม แผ่นใบบางหรือค่อนข้างหนา เส้นแขนงใบข้างละ ๙-๑๐ เส้น ก้านใบยาว ๑-๑.๕ ซม.

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามปลายยอด ใบประดับเล็กเรียว ยาวประมาณ ๖ มม. มีขนยาวนุ่ม ดอกสีขาวอมเขียว กลีบรวม ๖ กลีบ รูปไข่ กว้างประมาณ ๓ มม. ยาวประมาณ ๔ มม. มีขนยาวนุ่มทั้ง ๒ ด้าน เกสรเพศผู้มีจำนวนมาก ก้านชูอับเรณูยาว ๔-๕ มม. มีขนสั้นนุ่ม อับเรณูรูปสามเหลี่ยมแกมรูปไข่ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปไข่ ยาวประมาณ ๑ มม. มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๕-๘ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้นมาก ยอดเกสรเพศเมียมี ๓ แฉก

 ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปไข่ กว้างประมาณ ๓ ซม. ยาวประมาณ ๔.๕ ซม. สีเขียวแกมเทา เปลือกไม่เรียบ ก้านผลยาว ๓-๕ มม.

 ไข่แลนมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขึ้นตามริมน้ำ ออกดอกเดือนธันวาคมถึงมีนาคม เป็นผลเดือนธันวาคม ในต่างประเทศพบที่พม่าและภูมิภาคอินโดจีน.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ไข่แลน
ชื่อวิทยาศาสตร์
Stixis obtusifolia (Hook. f. & Thomson) Pierre
ชื่อสกุล
Stixis
คำระบุชนิด
obtusifolia
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Hooker, Joseph Dalton
- Thomson, Thomas
- Pierre, Jean Baptiste Louis
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Hooker, Joseph Dalton (1817-1911)
- Thomson, Thomas (1817-1878)
- Pierre, Jean Baptiste Louis (1833-1905)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ก่องกานดา ชยามฤต