ตะคร้ำเป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๓๐ ม. เปลือกนอกสีเทาดำ แตกเป็นสะเก็ด เปลือกในสีน้ำตาลแดง เรียงเป็นชั้น มียางใส กิ่งมักมีช่องอากาศกระจายทั่วไป
ใบประกอบแบบขนนก เรียงเวียน ใบย่อย ๑๑-๒๑ ใบ เรียงตรงข้าม รูปรี รูปขอบขนาน หรือรูปใบหอกกว้าง ๑-๔ ซม. ยาว ๑.๕-๑๓ ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนรูปลิ่มถึงมนกลม เบี้ยวเล็กน้อย ขอบจักมนหรือจักฟันเลื่อย แผ่นใบเกลี้ยงหรือมีขนสั้นนุ่ม เส้นแขนงใบข้างละ ๑๐-๑๘ เส้น ปลายโค้งจดกันใกล้ขอบใบ ใบย่อยคู่ล่างมักลดรูปคล้ายหูใบ ร่วงง่าย ก้านใบประกอบยาว ๐.๕-๑๐ ซม. แกนกลางยาว ๗-๔๐ ซม. ก้านใบย่อยยาวประมาณ ๒ มม. หรือเกือบไร้ก้าน มีขนสั้นนุ่ม ก้านใบย่อยใบปลายยาว ๐.๕-๒ ซม. หูใบรูปใบหอกถึงรูปแถบยาว ๐.๕-๑ ซม. ด้านนอกมีขนสั้นนุ่ม
ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามยอด มี ๓-๑๐ ช่อ ช่อยาวได้ถึง ๓๐ ซม. แกนช่อมีขนสั้นนุ่ม ใบประดับขนาดเล็ก ยาว ๑-๓ มม. ร่วงง่าย ก้านดอกยาว ๑-๑.๕ มม. มีขนสั้นนุ่ม ดอกสีเหลืองนวล ฐานดอกรูปถ้วย กว้างประมาณ ๓ มม. กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ โคนเชื่อมติดที่ขอบฐานดอกรูปถ้วย เรียงจดกัน กลีบรูปไข่ กว้างและยาวประมาณ ๓ มม. ด้านนอกมีขนสั้นนุ่ม กลีบดอก ๕ กลีบ ติดที่ขอบฐานดอกรูปถ้วย เรียงสลับกับกลีบเลี้ยงกลีบรูปสามเหลี่ยม กว้าง ๒.๕-๓ มม. ยาวประมาณ ๔ มม. ปลายแหลม ด้านนอกมีขนสั้นนุ่ม เกสรเพศผู้ ๑๐ เกสร ติดระหว่างพูจานฐานดอก ก้านชูอับเรณูมีขนยาวที่โคน ก้านที่อยู่ตรงข้ามกลีบดอกยาว ๒-๓ มม. ก้านที่อยู่สลับกับกลีบดอกยาว ๓-๔ มม. อับเรณูติดด้านหลัง รูปรีหรือรูปขอบขนาน ยาว ๑-๑.๕ มม. จานฐานดอกเป็นวง
ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงกลม เบี้ยวเล็กน้อย เส้นผ่านศูนย์กลาง ๒-๒.๕ ซม. สุกสีเหลืองอมเขียวเมล็ดมีเกราะแข็งหุ้ม มี ๑-๕ เมล็ด ขรุขระ กว้าง ๓-๕ มม. ยาว ๕-๗ มม. เปลือกเมล็ดชั้นนอกบาง
ตะคร้ำมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยเกือบทุกภาคยกเว้นภาคใต้ พบขึ้นตามป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขา ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๑๐๐-๑,๕๐๐ ม. ออกดอกก่อนผลิใบหรือพร้อมผลิใบช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงพฤษภาคม ผลแก่เดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม ในต่างประเทศพบที่เนปาล อินเดีย ภูฏาน เมียนมา จีนตอนใต้ และภูมิภาคอินโดจีน
ประโยชน์ เนื้อไม้แข็งปานกลาง ใช้ก่อสร้างภายใน ผลรับประทานได้.