ชมพูพาน

Wightia speciosissima (D. Don) Merr.

ชื่ออื่น ๆ
ต้นหนาผา (พิษณุโลก), ตุมกาแดง (ตะวันออกเฉียงเหนือ)
ไม้ต้นกึ่งอิงอาศัย ไม่ผลัดใบ ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปขอบขนานถึงรูปรีหรือรูปรีแกมรูปไข่ ก้านใบอวบสั้น ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ออกตามซอกใบ มีดอกจำนวนมาก สีชมพู สีชมพูแกมแดงหรือสีม่วงอ่อน ผลแบบผลแห้งแตกตามรอยประสาน รูปขอบขนานถึงรูปขอบขนานแกมรูปแถบ เมล็ดจำนวนมาก รูปแถบ มีปีกใส

ชมพูพานเป็นไม้ต้นกึ่งอิงอาศัย ไม่ผลัดใบ สูงได้ถึง ๒๕ ม. เปลือกสีขาวอมเทา กิ่งแผ่กระจายไม่เป็นระเบียบ ปลายกิ่งอาจห้อยลง สีน้ำตาลหรือสีม่วงอมชมพู มีช่องอากาศ กิ่งอ่อนมีขนรูปดาว

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปขอบขนานถึงรูปรีหรือรูปรีแกมรูปไข่ กว้าง ๖-๑๕ ซม. ยาว ๙-๓๐ ซม. ปลายแหลมถึงกึ่งแหลม โคนรูปลิ่มถึงกลมมน ขอบเรียบ แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างเกลี้ยงหรือมีขนรูปดาวสีเหลืองอมเทาประปรายมีต่อมเห็นได้ชัดเจนบริเวณใกล้ซอกของเส้นใบเส้นแขนงใบข้างละ ๓-๕ เส้น ก้านใบอวบสั้น รูปทรงกระบอก ยาว ๑-๓.๕ ซม. ด้านบนเป็นร่อง

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ออกตามซอกใบ มีดอกจำนวนมาก ช่อดอกยาว ๑๐-๓๐ ซม. ก้านช่อดอกยาวได้ถึง ๑ ซม. ก้านดอกสั้น สีม่วง ทั้งก้านช่อดอกและก้านดอกมีขนรูปดาวสีน้ำตาลหนาแน่น ใบประดับย่อย ๒ ใบ ขนาดเล็ก กลีบเลี้ยงสีเขียว ยาว ๖-๘ มม. มีขนรูปดาวหนาแน่น โคนเชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง ปลายแยกเป็น ๓-๕ แฉก แฉกรูปกลมหรือรูปกลมแกมรูปไข่ ปลายแฉกมนถึงกลม กลีบดอกรูปปากเปิดแกมรูปกรวยเบี้ยว ยาว ๒-๔ ซม. สีชมพู สีชมพูแกมแดง หรือสีม่วงอ่อน เมื่อแก่มีสีเข้มขึ้นร่วงง่าย โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด สีขาวนวล โค้งขึ้นบริเวณใกล้โคน ส่วนปลายขยายใหญ่ ด้านนอกมีขนรูปดาว ปลายมี ๕ แฉก สีม่วง แยกเป็น ๒ ซีก ซีกบน ๒ แฉก ตั้งขึ้น รูปกลมแกมรูปไข่ ยาวประมาณ ๘ มม.บริเวณโคนแฉกมีจุดสีม่วงเข้ม ๒ จุด มักหุ้มปิดอับเรณู ซีกล่าง ๓ แฉก แต่ละแฉกรูปกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๕-๗ มม. โค้งพับลง เกสรเพศผู้มี ๒ คู่ ยาวไม่เท่ากัน โผล่พ้นกลีบดอก มีขนยาวห่าง ๆ บริเวณใกล้โคนหรือเกลี้ยง อับเรณูรูปไข่แกมรูปขอบขนานสีม่วงหรือสีแดงอมน้ำตาล ก้านชูอับเรณูติดที่ฐานสีม่วงอมชมพู รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ทรงรูปไข่แกมรูปขอบขนาน เกลี้ยง มีริ้วเห็นไม่ชัด ๖ ริ้ว มี ๒ ช่องแต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียยาว ปลายโค้งขึ้น ยอดเกสรเพศเมียขนาดเล็ก

 ผลแบบผลแห้งแตกตามรอยประสาน รูปขอบขนานถึงรูปขอบขนานแกมรูปแถบ สีเขียว กว้างประมาณ ๑ ซม. ยาว ๒-๔ ซม. เรียบ เกลี้ยง เมล็ดจำนวนมาก รูปแถบ มีปีกใส ความกว้างรวมปีกประมาณ ๑.๕ มม. ยาวประมาณ ๗ มม.

 ชมพูพานมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงใต้ พบขึ้นตามป่าดิบริมลำธาร ป่าดิบเขา ป่าโปร่ง บริเวณหน้าผา ขึ้นบนหิน หินปูน หรืออิงอาศัยบนต้นไม้อื่น ที่สูงจากระดับทะเล ๘๐๐-๒,๐๐๐ ม. ออกดอกเดือนกันยายนถึงมกราคมเป็นผลเดือนมีนาคม ในต่างประเทศพบที่อินเดีย เนปาล ภูฏาน เมียนมา ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีนและตอนเหนือของเวียดนาม.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ชมพูพาน
ชื่อวิทยาศาสตร์
Wightia speciosissima (D. Don) Merr.
ชื่อสกุล
Wightia
คำระบุชนิด
speciosissima
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Don, David
- Merrill, Elmer Drew
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Don, David (1799-1841)
- Merrill, Elmer Drew (1876-1956)
ชื่ออื่น ๆ
ต้นหนาผา (พิษณุโลก), ตุมกาแดง (ตะวันออกเฉียงเหนือ)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางปริญญนุช กลิ่นรัตน์