จอกเป็นพืชน้ำหลายปี ขนาดค่อนข้างเล็กลำต้นสั้นมาก มีใบจำนวนมากเรียงเวียนซ้อนรอบลำต้นเป็นกระจุกคล้ายดอกกุหลาบซ้อน สูงและกว้างได้ถึง ๑๐ ซม. มีไหลกลมเรียวยาวทอดไปตามผิวน้ำ มักติดกันเป็นแพ รากเรียวยาวออกเป็นกระจุกอยู่ใต้กลุ่มใบ
ใบเดี่ยว เรียงเวียนซ้อนรอบลำต้น รูปไข่กลับหรือรูปไข่แกมรูปลิ่ม กว้าง ๕-๘ ซม. ยาว ๑๐-๑๕ ซม. ปลายมนกว้างหรือตัด มักเว้าตื้น โคนสอบ ขอบเรียบแผ่นใบอวบน้ำ ด้านบนสีเขียวอ่อน ด้านล่างสีจางกว่าด้านบนมีขนนุ่มทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบข้างละ ๕-๙ เส้น ไม่มีก้านใบ
ดอกแยกเพศร่วมช่อ ช่อดอกแบบช่อเชิงลดมีกาบ ออกตามซอกใบ สีขาวปนเขียวอ่อน ก้านช่อดอกยาว ๑.๒-๑.๕ มม. กาบหุ้มช่อดอกกว้าง ๑-๒ ซม. ยาว ๑-๔ ซม. ช่วงโคนม้วนซ้อนกัน ด้านในเชื่อมติดกับแกนช่อ ช่วงกลางแผ่เป็นปีกทั้ง ๒ ข้าง ช่วงปลายแผ่ออกเป็นรูปไข่ ปลายแหลม ด้านนอกกาบมีขนสั้นสีขาว ไม่มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอก กลุ่มดอกเพศผู้อยู่ทางปลายช่อมี ๒-๘ ดอก แต่ละดอกมีเกสรเพศผู้ ๒ เกสร เชื่อมติดกันดอกเพศเมียมี ๑ ดอก อยู่ตอนล่างที่มีกาบหุ้ม รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปคล้ายคนโท มี ๑ ช่อง มีออวุลหลายเม็ด
ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด มีขนาดเล็กรูปค่อนข้างกลม เปลือกนุ่มสีเขียว เมล็ดขนาดเล็ก มีจำนวนมาก
จอกมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค พบตามแหล่งน้ำทั่วไปทั้งน้ำจืดและน้ำกร่อย ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๑,๐๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเกือบตลอดปี เป็นวัชพืชในเขตร้อนถึงกึ่งร้อนทั่วโลก.