ค้อเป็นไม้ต้นพวกปาล์ม ลำต้นเดี่ยว สูงได้ถึง ๒๐ ม. เรือนยอดเป็นรูปทรงค่อนข้างกลม ตามลำต้นมักมีโคนก้านใบแข็งและหนา หรือมีกาบเขียงติดอยู่
ใบเดี่ยว เรียงเวียนถี่ใกล้ยอด ใบอ่อนตั้งขึ้นเมื่อแก่แผ่ออกและห้อยลง แผ่นใบรูปคล้ายฝ่ามือแกมขนนก กว้างและยาวประมาณ ๒ ม. ด้านล่างสีเทา พับจีบปลายแยกลึกประมาณ ๑ใน ๔ ส่วนของแผ่นใบ ด้านข้างของแผ่นใบแยกลึกประมาณ ๓ ใน ๔ ส่วน เห็นเป็นริ้วประมาณ ๑๐๐ ริ้ว ริ้วกว้าง ๕-๘ ซม. ยาวประมาณ ๑.๕ ม. ปลายริ้วแข็ง แยกเป็น ๒ แฉก ก้านใบหรือทางใบยาวประมาณ ๑.๕ ม. โคนก้านใบแผ่เป็นกาบสั้นและหนา แยกออกเป็น ๒ ซีก ขอบโคนก้านใบมีเยื่อสีนํ้าตาลหยาบ แต่ละข้างของกาบมีแผ่นคล้ายลิ้นใบ โค้งเล็กน้อย มีขอบโค้งคล้ายกาบหอย ยาวประมาณ ๒๕ ซม. ขอบก้านใบมีหนามสีส้ม ยาวประมาณ ๒.๕ ซม.
ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามซอกใบ ยาวประมาณ ๒ ม. แผ่ออกและโค้งลง มีแขนงช่อย่อย ๑๐-๑๕ ช่อ แต่ละช่อยาว ๔๕-๖๐ ซม. กาบช่อดอก สีน้ำตาลแดง ยาวประมาณ ๒๐ ซม. แผ่ออกถึงห้อยลง ช่อย่อยแบบช่อเชิงลด มีทั้งดอกสมบูรณ์เพศและแยกเพศในต้นเดียวกัน ดอกเล็ก สีเขียวอมเหลือง กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น ๓ แฉก กลีบดอกโคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น ๓ แฉก เกสรเพศผู้ ๖ เกสร ก้านชูอับเรณูโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้น ปลายแยกและแผ่กว้างเป็นรูปสามเหลี่ยมอับเรณูเล็ก รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด
ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง ทรงรูปไข่แกมรูปทรงรี กว้างประมาณ ๒.๕ ซม. ยาวประมาณ ๓ ซม. ผิวเรียบ เป็นมัน สีฟ้าอ่อน สุกสีน้ำเงิน
ค้อมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันตก ภาคตะวันออก และภาคใต้พบตามป่าดิบชื้นป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขา ที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๔๐๐-๙๐๐ ม. ทางภาคใต้จะพบอยู่ เป็นกลุ่มบนที่ลาดชันและตามเชิงเขา ในต่างประเทศ พบที่ภูฏาน พม่า จีน (ยูนนาน) และมาเลเซีย
ประโยชน์ ใบใช้มุงหลังคา ลำต้นใช้ก่อสร้างบ้าน.