แกแลขาวเป็นไม้พุ่มรอเลื้อย กิ่งมนหรือเป็นเหลี่ยมเปลือกเป็นริ้ว สีน้ำตาลปนเทาหรือน้ำตาลเข้ม มีขนนุ่ม
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปไข่ กว้าง ๓.๕-๕ ซม. ยาว ๕-๘ ซม. ปลายแหลม โคนรูปหัวใจ ขอบเรียบแผ่นใบคล้ายกระดาษ มีขนนุ่มทั้ง ๒ ด้าน ขนหนาแน่นบริเวณเส้นใบ เส้นแขนงใบข้างละ ๔-๕ เส้น ปลายโค้งจรดกันใกล้ขอบใบ ก้านใบยาว ๕-๘ มม. ด้านบนเป็นร่องตื้น มีขน ใบประดับขนาดเล็ก รูปไข่ มีขน
ช่อดอกแบบช่อแยกแขนงคล้ายช่อเชิงหลั่น โดยมีก้านช่อย่อยอยู่ในระดับเดียวกัน ออกตามปลายกิ่ง กว้าง ๕-๑๒ ซม. ยาว ๕-๑๐ ซม. ที่แกนกลางและก้านช่อดอกมีขนนุ่ม ดอกสีขาว มีจำนวนมาก ยาว ๑-๑.๒ ซม. กลิ่นหอมอ่อน ก้านดอกสั้นมาก กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง ยาวประมาณ ๒ มม. ปลายแยกเป็นแฉกสั้น ๕ แฉก หรือแฉกไม่ชัดเจนด้านในหลอดเกลี้ยง ด้านนอกมีขน กลีบดอกโคนติดกันเป็นหลอดรูปกรวยแคบ ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปรี ขนาดเกือบเท่ากัน ปลายมน ด้านในแฉกและหลอดกลีบดอกเกลี้ยง ส่วนด้านนอกมีขน เกสรเพศผู้มี ๒ คู่ยาวไม่เท่ากัน ยื่นพ้นปากหลอดกลีบดอก อับเรณูรูปรี แตกตามยาว ก้านชูอับเรณูติดด้านหลัง รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปกลม มีขนแน่น มี ๔ ช่อง ไม่สมบูรณ์ แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๒ แฉกสั้น ๆ
ผลแบบผลแห้งแตก รูปคล้ายทรงกระบอก ปลายมนใหญ่กว่าโคนเล็กน้อย ยาว ๐.๕-๑ ซม. ด้านในที่ติดกับแกนกลางเป็นสัน อีกด้านหนึ่งกลมมน แก่จัดแตกเป็น ๔ แฉก
แกแลขาวมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันตกเฉียงใต้ ขึ้นตามริมลำธารหรือทางเดินในป่า ที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๕๐-๑๐๐ ม. ออกดอกระหว่างเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม เป็นผลระหว่างเดือนสิงหาคมถึงธันวาคม ในต่างประเทศพบที่กัมพูชา เวียดนามตอนกลางและตอนใต้ ใช้เข้ายาแก้ตานขโมย [ข้อมูลจากบันทึกของ Put ๒๖๗๓ (BK)]
แกแลขาวมีลักษณะใกล้เคียงกับกงกางมาก ต่างกันที่แกแลขาวมีใบบางกว่า หากมีการศึกษาอย่างละเอียดเพิ่มขึ้นแกแลขาวและกงกางอาจเป็นพืชชนิดเดียวกันก็ได้.