แกแล

Maclura cochinchinensis (Lour.) Corner

ชื่ออื่น ๆ
แกก้อง (แพร่); แกล, แหร (ใต้); เข (นครราชสีมา); ช้างงาต๊อก (ลำปาง); น้ำเคี่ยวโซ่ (ปัตตานี); สักขี, เ
ไม้พุ่มรอเลื้อย ทุกส่วนมียาง ต้น กิ่ง และง่ามใบมีหนามแหลมแข็ง ใบเรียงสลับ รูปรี ดอกแยกเพศต่างต้นช่อดอกเพศผู้แบบช่อกระจะ ดอกสีขาวนวล ช่อดอกเพศเมียแบบช่อกระจุกแน่น ผลเป็นผลรวม รูปกลม ผิวขรุขระ

แกแลเป็นไม้พุ่มรอเลื้อย มียางสีเหลืองอ่อน ต้น กิ่ง และง่ามใบมีหนามแหลมแข็ง ยาว ๑-๕ ซม. ปลายแหลม ตรงหรือโค้งเล็กน้อย

 ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปรี กว้าง ๑-๕ ซม. ยาว ๒-๑๑ ซม. ปลายแหลมหรือมน โคนสอบ ขอบเรียบ เส้นแขนงใบข้างละ ๖-๙ เส้น ก้านใบยาว ๐.๓-๑.๕ ซม. หูใบเล็กมากและร่วงง่าย

 ดอกแยกเพศต่างต้น ช่อดอกเพศผู้เป็นช่อกระจะกลาย ๆ ช่อดอกเพศเมียเป็นช่อกระจุกแน่น ออกตามง่ามใบเป็นคู่หรืออยู่เดี่ยว ๆ ก้านช่อดอกยาว ๐.๓-๑ ซม. ช่อดอกเพศผู้เส้นผ่านศูนย์กลาง ๐.๗-๑ ซม. สีขาวนวล ดอกเล็กมาก ที่โคนดอกมีใบประดับเล็กมากรูปซ้อน กลีบรวม ๔ กลีบ รูปไข่กลับด้านนอกมีขนสั้น เกสรเพศผู้ ๔ อัน เล็กมาก ช่อดอกเพศเมียเส้นผ่านศูนย์กลาง ๖-๘ มม. ดอกเล็กมาก กลีบรวม ๔ กลีบ โคนติดกัน ปลายแยก รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียว ยาวกว่ากลีบรวมเล็กน้อย

 ผลแบบผลรวม กลม ผิวขรุขระ เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑-๒.๕ ซม. เมล็ดเล็กมาก

 แกแลมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยเกือบทุกภาคขึ้นตามป่าละเมาะ ป่าเบญจพรรณ และป่าดิบ บนพื้นที่ระดับต่ำไปจนถึงที่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๑,๒๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่จีน ญี่ปุ่น อินเดีย ศรีลังกา ภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย

 เนื้อไม้มีสีเหลืองใช้ย้อมผ้า ใช้เป็นยาภายนอกเพื่อลดไข้ในซาราวักใช้ในยาหลังคลอดบุตร (Perry and Metzger, 1980).

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
แกแล
ชื่อวิทยาศาสตร์
Maclura cochinchinensis (Lour.) Corner
ชื่อสกุล
Maclura
คำระบุชนิด
cochinchinensis
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Loureiro, João de
- Corner, Edred John Henry
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Loureiro, João de (1717-1791)
- Corner, Edred John Henry (1906- )
ชื่ออื่น ๆ
แกก้อง (แพร่); แกล, แหร (ใต้); เข (นครราชสีมา); ช้างงาต๊อก (ลำปาง); น้ำเคี่ยวโซ่ (ปัตตานี); สักขี, เ
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางจารีย์ บันสิทธิ์