แก่นตัวผู้

Oberonia falconeri Hook.f.

กล้วยไม้อิงอาศัย เจริญทางด้านข้าง ต้นสั้นมากและมีโคนใบหุ้ม ใบอวบหนา เรียงสลับระนาบเดียว รูปคล้ายใบมีดช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกที่ยอด ดอกสีนวลหรือเขียวอ่อน

แก่นตัวผู้เป็นกล้วยไม้อิงอาศัย เจริญทางด้านข้าง ขึ้นเป็นกระจุก กระจุกละ ๓-๑๐ ต้น ต้นสั้นมาก มีโคนใบหุ้ม

 ใบอวบหนา เรียงสลับระนาบเดียวที่โคนต้น รูปคล้ายใบมีด ขนาดต่างกัน มี ๔-๖ ใบ ใบที่ ๓ หรือ ๔ มักมีขนาดใหญ่ที่สุด กว้างประมาณ ๑ ซม. ยาว ๔-๗ ซม. ปลายแหลมโคนแผ่เป็นกาบหุ้มซ้อนกันและหุ้มต้น

 ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกที่ยอด ก้านช่อยาว ๑-๒ ซม. แกนกลางยาว ๖-๘ ซม. ดอกมักเรียงตัวคล้ายเป็นชั้น ๆ สีนวลหรือเขียวอ่อน กว้างประมาณ ๒ มม. ยาวประมาณ ๓ มม. กลีบเลี้ยงอันบนและกลีบเลี้ยงด้านข้างคล้ายกัน รูปสามเหลี่ยมแกมรูปไข่ ยาวประมาณ ๑ มม. ปลายมน กลีบดอกรูปขอบขนาน ยาวประมาณ ๑ มม. ปลายมน กลีบปากอยู่ทางด้านบน รูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๒ มม. ปลายเว้าเป็น ๒ แฉก ปลายแฉกมน เส้าเกสรสั้นมาก ฝาปิดกลุ่มเรณูรูปไข่ กลุ่มเรณูรูปรี มี ๔ กลุ่ม รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๓ ช่อง มีออวุลจำนวนมาก ยอดเกสรเพศเมียอยู่ทางด้านหน้าของเส้าเกสร ก้านดอกรวมรังไข่ยาวประมาณ ๒ มม. ใบประดับรูปใบหอก ยาวประมาณ ๒ มม. ขอบหยักตื้น

 แก่นตัวผู้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยเกือบทุกภาค ขึ้นตามป่าดิบเขา ในต่างประเทศพบที่อินเดีย ลาว เวียดนาม และมาเลเซีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
แก่นตัวผู้
ชื่อวิทยาศาสตร์
Oberonia falconeri Hook.f.
ชื่อสกุล
Oberonia
คำระบุชนิด
falconeri
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Hooker, Joseph Dalton
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1817-1911)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ. ดร.อบฉันท์ ไทยทอง